HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 28/10/2556 ]
แก้ นร.มีปัญหา 2 อารมณ์

 

นักเรียนไทยมีปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์มากถึง 2 ล้านคน จำเป็นต้องได้รับการดูแล เน้นโครงการ "1 โรงพยาบาล 1 โรงเรียน" แก้ปัญหาได้ เพราะมี "นักจิตวิทยาโรงเรียน" เป็นตัวเชื่อมช่วยเด็กไม่โดดเดี่ยว
          "นายสรวงศ์ เทียนทอง" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สธ.กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อพัฒนารูปแบบความร่วมมือการดูแลแก้ปัญหาสุขภาพนักเรียนในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2553 ในรูปแบบของ "1 โรงพยาบาล 1 โรงเรียน" ว่า...ปัญหาสังคมและปัญหาครอบครัวส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
          จากการสำรวจพบว่า นักเรียนไทยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประมาณ 1 ใน 5 หรือราว 2 ล้านคน จากทั้งหมดประมาณ 10 ล้านคน มีปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างฝากความหวังไว้กับครูและระบบการศึกษาว่าจะสามารถพัฒนาลูกหลานของตนเองให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
          ทั้งนี้ ปัญหาหลักที่พบในนักเรียนไทยมี 4 เรื่องได้แก่ การเล่นเกม การใช้สารเสพติด การใช้ความรุนแรง ทะเลาะวิวาทแก้ปัญหาคับข้องใจ และเรื่องเพศโดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นำไปสู่การตั้งครรภ์ขณะนี้ยังเรียน
          "นายสรวงศ์" กล่าวต่อว่า หลังดำเนินโครงการดังกล่าว ในโรงเรียน 24 แห่งจาก 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ร้อยเอ็ด สระแก้ว สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และ กทม.โดยพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา 5 เรื่องหลักเป็นผลสำเร็จได้แก่ 1. ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม 2. การสร้างเครือข่ายการดูแล 3. การพัฒนาระบบการแนะแนว 4. การศึกษารูปแบบนักจิตวิทยาโรงเรียน และ 5. พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า
          ประสบความสำเร็จ จึงเห็นว่าเป็นนโยบายสำคัญที่จะประกาศผลักดันเป็นนโยบายที่ดำเนินการทั่วประเทศในโครงการ 1 โรงพยาบาล 1 โรงเรียน
          "โครงการนี้สามารถทำได้โดยจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ (Psy-chosocial Clinic) แก่นักเรียนในโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป เชื่อมดูแลกับโรงเรียนประจำอำเภอ และสร้าง "นักจิตวิทยาโรงเรียน" ร่วมดูแลสุขภาพใจในเบื้องต้น คลายร้อนเป็นเย็นฟังปัญหานักเรียนให้มาก พูดคุยด้วยเหตุผลและให้ความเมตตานักเรียน โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกอำเภอภายในปี 2557" รมช.สาธารณสุข กล่าว
          ด้าน "น.พ.อิทธิพล สูงแข็ง" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ สถาบันราชานุกูล และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจากการติดตามผลโครงการพบว่า...
          นวัตกรรมใหม่จากโครงการนี้ คือการมี "นักจิตวิทยาโรงเรียน" เป็นตัวเชื่อมต่อการดูแลระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาลสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ และพบว่าครูให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนในเรื่องการไม่อยู่ในกฎระเบียบปัญหาครอบครัว และความเครียดมากที่สุด
          ส่วนกิจกรรมด้านส่งเสริมป้องปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่คือ กิจกรรมเสริมทักษะชีวิต และสร้างความภาคภูมิใจในคุณค่าตนเอง ส่วนกิจกรรมด้านการบำบัดเด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัญหา พฤติกรรม การเรียน และอารมณ์ โดยพบว่า รูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างสองสายงานที่มีเป้าหมายเดียวกันที่เด็กเช่นนี้ ส่งผลให้แนวโน้มปัญหาสุขภาพนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมโครงการลดลง จึงมั่นใจว่าระบบนี้จะช่วยเติมเต็มระบบการดูแลนักเรียนต่อเนื่องระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล เด็กไม่รู้สึกว่าถูกสังคมโดดเดี่ยว หรือปล่อยให้เผชิญและแก้ไขปัญหาตามลำพังอีกต่อไป
          กรมสุขภาพจิตจะเร่งขยายการอบรมด้านการดูแลสุขภาพจิตให้เครือข่ายต่างๆ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในภาครัฐ โดยให้หน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์การพัฒนารวมถึง สนับสนุนการทำงานของเขตบริการสุขภาพ 12 เขต และ กทม.

pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved