HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 18/10/2556 ]
การศึกษาไทย กับ เออีซี 'เราพร้อมมาก...ก็ได้เปรียบมาก'

 

 เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี กับการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศของ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือที่มีชื่อย่อและเรียกกันติปากว่า "เออีซี" แต่วันนี้ก็ยังมีคำถามๆ หนึ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของคนไทยว่า...
          เรามีความพร้อมแล้วหรือไม่ และเราจะต้องเตรียมตัวหรือปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในวันข้างหน้า?
          แน่นอนว่า...สิ่งสำคัญที่สุดที่ประเทศจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างแรกเลยก็คือเรื่อง "การศึกษา" เพราะคุณภาพของคนย่อมมาจากการศึกษาที่ดี อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและแข่งขันกับคนอื่นได้
          เรื่องสำคัญประเด็นนี้ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ "บางกอก ทูเดย์" ถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวซี่งกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่โดยตรงคือต้อง "เตรียมคน" เพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน
          "วันนี้เราต้องเร่งส่งเสริมการศึกษาของคนในชาติ...ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่เตรียมความพร้อมการศึกษาโดยจำเป็นจะต้องสร้างพื้นฐานให้เยาวชนตั้งแต่เด็กนักเรียนระดับอนุบาล และเราก็จำเป็นจะต้องประสานการทำงร่วมกับกระทรวงอื่นๆ อย่างเช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กระบวนการ "เปิดประเทศ" รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้าน....แต่หากรวมกันเป็นประชาเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ก็จะมีประชากรของทั้ง 10 ประเทศ รวมกันราวๆ 500-600 ล้านคน มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องตื่นตัวและเร่งเตรียมความพร้อม
          เพราะหากเรามีความพร้อมมาก...เราก็จะมีความได้เปรียบมาก
          โดยนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถือว่าเรื่องการพัฒนาการศึกษาของเด็กไปเป็นนโยบายใหญ่...เพราะต่อจากนี้ไปเราจำเป็นจะต้องไปแข่งขันกันในเรื่องตลาดแรงงานกับคนอีกเป็นร้อยล้านคน...หากเราจะสู้เขาได้ อันดับแรก การศึกษาของเราต้องมีคุณภาพ"
          และเมื่อถามถึงข่าวที่น่าตกใจเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาไทยที่มีผลสำรวจแล้วพบว่า "ตกต่ำ" จนน่าใจหาย...โดยพบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 7 ว่ามีการศึกษาที่สู้ชาติอื่นจากจำนวนกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศไม่ได้
          เรื่องนี้ "คุณเสริมศักดิ์" ได้กล่าวว่า...มันเป็นเรื่องที่ "กระทรวงศึกษาธิการ" จะต้องรีบแก้ตัวและรีบต้องแก้ไข...ซึ่งเราคงจะโยนความรับผิดชอบเรื่องนี้ไปให้แต่ภาคราชการอย่างเดียวคงไม่ได้...เราจะต้องมานั่งคิดอ่านกันใหม่ว่า วันนี้ภาคเอกชนท่านต้องการคนแต่ละปีด้านไหนอย่างไร...เอาแค่เริ่มต้นก่อนภายในประเทศ...ท่านต้องการเด็กอาชียวะช่างฝีมือหรือต้องการเด็กที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่ากัน
          "สิ่งหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยเกิดปัญหา คือ การที่เด็กร่ำเรียนมา แต่กลับไม่รู้เป้าหมายในอนาคตของตัวเองอย่างใดเลย...เขาไม่รู้จบมาแล้วจะไปทำอะไร...สเปคจะต้องตรงกับตลาดแรงงานที่ต้องการหรือไม่... กระทรวงศึกษาธิการจึงมีหน้าที่สร้างความมั่นใจให้กับเด็กเหล่านี้ เพื่อให้เขาออกมามีงานทำมีสมรรถนะ และมีรายได้ที่ดีในการหาเลี้ยงครอบครัว"
          นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะปฏิเสธความเป็นตัวเราไม่ได้เลยคือเรื่องของ "ค่านิยมฝังหัว" ที่เด็กมักจะได้รับการปลูกฝังจากผู้ใหญ่แบบผิดๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือมุมมองที่แตกต่างระหว่างเด็กที่เรียนอาชีวะช่างกลกับเด็กที่เรียนวิศวะฯ
          สำหรับสายตาของสังคมไทยที่มองออกมา...พวกเขาจะมองว่าเรียนช่างกลเพื่อไปเป็น "เบ๊" ใช้แรงงาน ขณะที่เรียนอาชีวะมาจบแล้วไปเป็น "ผู้คุมงาน" หรือ "เป็นหัวหน้าคน" ทั้งๆ ที่หากเอาเข้าจริงๆ ความรู้นอกห้องเรียกซึ่งก็คือ "ประสบการณ์" จากการที่ได้ผ่านมาจริงๆ...เชื่อเลยว่าเด็กอาชีวะช่างกลได้เปรียบมากกว่าตรงนี้
          "ผมขอยกตัวอย่างที่ประเทศสวีเดน...เด็กที่เรียนเก่ง....เด็กที่หัวไบร์ทสอบได้ที่ 1... ส่วนใหญ่เขาจะไปเรียนต่อสายวิชาชีพอย่างพวกช่างกลกันทั้งนั้น...เพราะตลาดแรงงานทางด้านนี้และแทบจะในทุกประเทศมีความต้องการเป็นอย่างมาก"
          "คุณเสริมศักดิ์" กล่าวเสริมว่า...กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องทำงานอย่างหนัก และจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายล่วงหน้า เพื่อวางรากฐานให้เข้ากับยุคสมัยของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป...โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีถือเป็น "ปัจจัย  5" ที่เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตมาก
          "เราจำเป็นต้อววงสอนเด็กให้เรียนรู้ในทุกด้าน...โดยคุณครูเป็นเพียงผู้รูเและผู้ชี้แนวทางแต่มิใช่ผู้ที่มากำหนดชีวิตและความคิดของเด็ก...และความรู้จะต้องได้มาจากการปฏิบัติด้วย...มิใช่ใช้เวลาอยู่แต่กับตำราเรียน"
          จะเห็นว่า....ด้วยความคิดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีวิสัยทัศน์ "มองไกลไปข้างหน้า" ทำให้ผู้ที่เคยหมดหวังไปกับการศึกษาไทย เริ่มมีกำลังใจเพราะเห็นแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์
          "คุณเสริมศักดิ์" พยายามที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองเพื่อเข้ากับการศึกษาของโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว...ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน...แล้วจึงค่อยไปเริ่มต้นที่คนอื่น
          เพราะอดีตที่ผ่านมา...ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยยังไม่สามารถพัฒนาและดึงเอาศักยภาพออกมาใช้ได้เท่าที่ควร...ทั้งๆ ที่เด็กไทยถือว่าเป็นเด็กที่ฉลาดและเก่งไม่แพ้ใครในโลก
          มันจึงเป็นภาระหน้าที่อันหนักอึ้งของกระทรวงศึกษาธิการที่จะ "เค้นเอาศักยภาพ" ตรงนั้นออกมาใช้ให้ได้ ...ระบบการศึกษาก็สำคัญ...ค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาก็สำคัญ..วันนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนความคิด และ ก้าวไปข้างหน้าไม่ใช่คิดอะไรแบบเดิมๆ
          อีก 2 ปีที่เราจะเข้าสู่ "เออีซี" หากเราเริ่มทำและเริ่มปรับปรุงเสียตั้งแต่วันนี้...เมื่อถึงวันนั้นเราก็จะมีความพร้อมมาก...รู้มาก...เก่งมาก...แก้ไขปัญหาเป็น...มีอีคิวและไอคิวที่สมดุลกัน...เชื่อว่าหากเราใช้มันสมองและฝีมือเข้าสู่สนามจริงในการแข่งขัน...เราจะไม่มีทางตกเป็นสองรองใคร!
          ความเป็นมา'เออีซี'
          "เออีซี" เป็นการพัฒนามาจากการเป็น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Associaiton of South East Asian Nation : ASEAN) ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญา กรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีประเทศผู้ก่อตั้งแรกเริ่ม 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
          ต่อมาในปี 2527 บรูไน ก็ได้เข้าเป็นสมาชิก ตามด้วย 2538 เวียดนาม ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิก ต่อมา 2540 ลาวและพม่า เข้าร่วม และปี 2542 กัมพูชา ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ทำให้ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ มีประชากร รวมกันเกือบ 500 ล้านคน
          จากนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่อินโดนีเซีย เมื่อ 7 ต.ค.2546 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ
          1.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC)
          2.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Socio-Cultural Pillar)
          3.ประชาความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar)
          คำขวัญของอาเซียน คือ "One Vision, One Identity, One Community." หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม
          เดิมกำหนดเป้าหมายที่จะตั้ง "เออีซี" ขึ้นในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงกันเลื่อนกำหนดให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558 และก้าวสำคัญต่อมาคือ การจัดทำปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งมีผลให้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2552
          นับเป็นการยกระดับความร่วมมือของอาเซียนเข้าสู่มิติใหม่ในการสร้างประชาคม โดยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางกฎหมายและมีองค์กรรองรับการดำเนินการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2558
          ในอนาคต AEC จะเป็นอาเซียน+3 โดยจะเพิ่มประเทศ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามาอยู่ด้วย และต่อไปก็จะมีการเจรจา อาเซียน+6 จะมีประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดียต่อไป

pageview  1205841    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved