HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามกีฬา [ วันที่ 06/09/2556 ]
ธาลัสซีเมียโรคร้ายแอบแฝง...แนะพ่อแม่ตรวจเลือดก่อนมีบุตร

 รัชนก อมรรักษากุล
          เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยโลหิตวิทยาร่วมกับโครงการจุฬาคิดส์คลับ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรมเสวนา "รู้จัก..ธาลัสซีเมีย" เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและรักษาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคเลือดจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนไทย และอาจแฝงอยู่ในพ่อแม่
          โดย รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กไทย และเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งปัญหาของโรคนี้เกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่ที่คิดว่าร่างกายแข็งแรงเป็นปกติดีทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งร้อยละ 30-40 ของประชากรในประเทศ เป็นพาหนะของโรคธาลัสซีเมีย แม้จะไม่มีอาการใดๆแต่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ โดยเด็กแรกคลอดร่างกายจะเป็นปกติทุกอย่าง แต่จะเริ่มตัวซีดตอนอายุ 6 เดือน หรือบางรายจะแสดงอาการให้เห็นเมื่อเด็กมีอายุ 1 ขวบขึ้นไป และมีการเจริญเติบโตช้า ท้องโต การรักษาโรคธาลัสซีเมียในปัจจุบัน ทำได้ 2 วิธีการคือ การเปลี่ยนถ่ายเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง และการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายเลือดนั้น ก็เพื่อลดอาการตัวซีดของเด็ก และช่วยให้เด็กสามารถเจริญเติบโตได้สมวัย สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ร่วมกับการออกกำลังกาย ให้เด็กดื่มนมเยอะๆ จะได้มีแคลเซียมมาป้องกันภาวะกระดูกบาง ข้อควรระวังในเรื่องของการให้เลือดเป็นประจำคือ เด็กมีภาวะเหล็กเกิน รักษาได้โดยการให้ยารักษาร่วมกันไป โดยจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต  ส่วนการรักษาที่จะทำให้โรคนี้หายขาดได้นั้น ทำได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ต้องรอการบริจาคและต้องมีเซลล์เข้ากันได้ หากผู้บริจาคเป็นพี่น้องกัน โอกาสที่เซลล์จะเข้ากันได้จะมีประมาณ 25% แต่ถ้าเป็นผู้บริจาคคนอื่นโอกาสที่เซลล์จะเข้ากันได้จะมีประมาณ 15%
          รศ.นพ.ปัญญา เสกสรรค์ หน่วยโลหิตวิทยาศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรักษาโรคธาลัสซีเมียนั้น การให้เลือดในผู้ป่วยธาลัสซีเมียนั้นนอกจากการให้เลือดแล้ว ยังต้องให้ยาขับเหล็กควบคู่กันไปด้วย ซึ่งมีทั้งแบบฉีดและแบบรับประทาน ปัจจุบันการบริจาคไขกระดูกยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยกับผู้บริจาค จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่มีโรคประจำตัว อายุ18-50 ปี มาบริจาคไขกระดูกให้กับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นของชีวิตผู้ป่วย และสามารถดำเนินคุณภาพชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรคธาลัสซีเมียสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจเลือดก่อนมีบุตร
          ขอบคุณข้อมูลจาก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์


pageview  1205861    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved