HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 13/02/2561 ]
คัดเน้นๆ!! 77 สุดยอด อาหาร ตัวท็อปมาตรฐาน Primary GMP อย.

 ผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP นับเป็นรายได้สำคัญแหล่งหนึ่งของคนในชุมชน ยิ่งหากได้รับมาตรฐานขั้นต้น หรือ Primary GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือ เป็นการช่วยเพิ่มยอดการขายได้อีกทาง
          ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า อาหารทั่วไปที่เป็นของฝาก อาหารพื้นเมือง วิสาหกิจชุมชน และสินค้าอาหารหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 342 พ.ศ.2555 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และเก็บรักษาอาหารแปรรูปพร้อมจำหน่าย หรือ Primary GMP
          เรียกว่าเป็นหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตขั้นต้นสำหรับอาหารพร้อมปรุง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีและกลุ่มอาหารทั่วไป ยกเว้นอาหารที่จำหน่ายโดยตรงแก่ผู้บริโภค เช่น ข้าวแกง อาหารถุง เป็นต้น ที่ไม่ต้องทำตามมาตรฐานนี้ โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา
          "อย.พยายามให้ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ขึ้นทะเบียน Primary GMP ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 5,319 แห่งจากทั่วทั้งประเทศ ซึ่งในการประเมินนั้นจะมีการให้คะแนนในด้านต่างๆ โดยมีทั้งหมด 3 ด้านคือ 1. ป้องกันการปนเปื้อนเบื้องต้น 2. ลดขจัดยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค และ 3. ป้องกันการปนเปื้อนซ้ำหลังการแปรรูป
          โดยหลักเกณฑ์จะครอบคลุมตั้งแต่อาคารสถานที่ผลิต อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต การคัดสรรวัตถุดิบ กระบวนการผลิต บุคลากร การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ กระทั่งการขนส่งถึงผู้บริโภค ทั้งนี้ หากประเมินแล้วได้คะแนนรวมมากกว่า 60 คะแนนขึ้นไป ก็จะได้รับมาตรฐาน Primary GMP" ภก.สมชาย กล่าว
          นอกจากนี้ ภก.สมชาย กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการยกระดับสินค้า และส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อย.จึงได้เฟ้นผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP ที่เป็นสุดยอดของ Primary GMP มาจัดทำเป็นคู่มือ "ชม-ชิม-ช็อป 77 สุดยอดผลิตภัณฑ์อาหารจากทั่วประเทศ" โดยคัดเลือกมาจังหวัดละ 1 ผลิตภัณฑ์
          เพื่อชูและโปรโมตเป็นสินค้าที่มาเยือนจังหวัดนี้แล้วต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก ซึ่งการคัดเลือกก็เลือกมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ Primary GMP แต่อยู่ในเกรดระดับตัวท็อป ซึ่งอย่างที่บอกว่า การผ่านเกณฑ์ต้องได้ 60 คะแนนขึ้นไป ซึ่งการคัดเลือกมาเป็น 77 สุดยอดอาหารนั้นก็จะเลือกจากกลุ่มที่ได้รับ 100 คะแนน หรือเกรดเอเท่านั้น
          "คู่มือ 77 สุดยอดอาหารดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นมาตั้งแต่ พ.ย. 2558 ผลิตออกมาจำนวน 7,200 เล่ม เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงผลิตได้น้อย แต่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ อย.จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการโปรโมตสุดยอดอาหารที่ อย.คัดเลือก เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการนำสุดยอดอาหารไปลงในคู่มือท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด เป็นต้น" ภก.สมชาย กล่าว
          สำหรับ 77 สุดยอดอาหารที่ อย.คัดเน้นๆ มาแล้ว ว่าถ้าไปจังหวัดนี้ต้องซื้อกลับมา ยกตัวอย่าง ภาคเหนือ เชียงใหม่ต้องแคบหมูแม่แช่ม ลำพูนต้องข้าวแต๋นน้ำแตงโม  น่านต้องข้าวหลามป้าเพ็ญ อุตรดิตถ์ต้องข้าวกล้องหอมนิลศูนย์ข้าวชุมชนคอรุม พิจิตรต้องข้าวเม่ากล้วยกรอบลุยสวนสมุนไพรกลุ่มอาชีพแม่บ้านบ้านไร่พัฒนา  เพชรบูรณ์ต้องทองม้วนสมุนไพรหมูหยองกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านซับเจริญ เป็นต้น
          ภาคอีสาน เช่น นครพนม ต้องหนังปลา กรอบทรงเครื่องพงศ์เพชร บึงกาฬต้องน้ำพริกเห็ด บ้านโนนโพธิ์ศรีสกลนครต้องข้าวฮางงอกหอม สกลทวาปี หนองคายต้องไข่เค็มกลุ่มเกษตรกรแปรรูปบ้านโพนเจริญ อุดรธานีต้องปลาร้าบองบ้านท่าตูม  อุบลราชธานีต้องขนมป็อปไรซ์วิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องร่องมาลี เป็นต้น
          ภาคกลาง เช่น สระบุรีต้องผัดหมี่ ไท-ยวน ตราป้าแวม ฉะเชิงเทราต้องหมี่กรอบสมุนไพรกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้  พระนครศรี-อยุธยาต้องมะพร้าวแก้วน้ำหอม กลุ่มน้ำดื่มเทพนาคา กรุงเทพมหานครต้องน้ำพริกกลุ่มแม่บ้านตาลเดี่ยว สมุทรปราการต้องปั้นสิบไส้ปลาสลิดเลพินตา สุพรรณบุรีต้องเผือกอบเนย จันทบุรีต้องทุเรียนทอดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี สมุทรสงครามต้องปลาทูนึ่งตราวรา เป็นต้น
          ภาคใต้ เช่น กระบี่ต้องเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วแบบโบราณจ๊ะปิก ปัตตานีต้องเมี่ยงคำสำเร็จรูปวิสาหกิจชุมชนธรรมาธิปไตยชุมชนนอกค่าย  พังงาต้องน้ำพริกกุ้งเสียบบ้านปริง ยะลาต้องลองกองแช่อิ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา สงขลาต้องน้ำตาลแว่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองฉนวน  ตรังต้องแกงไตปลาสำเร็จรูปกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ท่าข้ามสัมพันธ์ เป็นต้น
          ด้านนางขวัญใจ แสงไทย ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปลิง ต.นบปลิง อ.เมือง จ.พังงา หนึ่งในผู้ผลิตน้ำพริกกุ้งเสียบ ของดีเมืองพังงาที่ อย.แนะนำ กล่าวว่า การผลิตอาหารของกลุ่มเริ่มตั้งแต่ปี 2538 โดยเริ่มทำกันครั้งแรก 3 คน จนปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 22 คน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ขายได้ดี ในการผลิตอาหารขายนั้นก็มีการขอ อย.ตลอด
          และเมื่อต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน Primary GMP ในปี 2558 ก็สมัครและทำตามมาตรฐาน Primary GMP ด้วย ซึ่งมาตรฐานต่างๆ ที่ต้องทำนั้น แม้จะต้องลงทุน แต่ตนมองว่าไม่ได้ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากแต่อย่างใด แต่ราคาข้าวของในปัจจุบันที่แพงขึ้นมากกว่าที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตชัดเจน
          "การได้รับมาตรฐาน Primary GMP จาก อย. ทำให้คนมั่นใจในสินค้ามากขึ้น ขายได้ดีขึ้น ซึ่งสังเกตได้เลยว่าหลังได้รับตรามาตรฐานแล้วคนสนใจซื้อเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันสินค้าจะส่งไปขายตามตลาดร้านขายของฝาก ปั๊มน้ำมันที่มีคนจอดเยอะ โดยอนาคตจะขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยการส่งไปยังมาเลเซียด้วย
          สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีทั้งน้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกปลาเค็ม แกงไตปลาสำเร็จรูป และต่อมาได้ขยายไลน์มาผลิตประเภทขนม เช่น ขนมเต้าส้อ และขนมดอกพิงงา ซึ่งถือเป็นขนมเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในจังหวัดพังงา โดยเป็น ขนมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่และปรับปรุงสูตร โดยชื่อมาจากพื้นที่ที่เราอยู่ติดเขาพิงงาและอยู่ในจังหวัดพังงา
          ส่วนการแบ่งรายได้ในกลุ่มจะแบ่งตามชั่วโมงที่มาทำ เช่น 32 ชั่วโมง 40 ชั่วโมง หรือ 48 ชั่วโมง โดยเป็นการใช้เวลาว่างจากการทำงานมาทำกัน ก็ถือเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวและชุมชน บางรายได้ 5,000-7,000 บาทต่อเดือน" นางขวัญใจ กล่าว
          สำหรับรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์นั้น นางขวัญใจ กล่าวว่า หากเป็นกลุ่มขนมจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนบาทต่อเดือน ส่วนผลิตภัณฑ์รวมทั้งหมดประมาณ 8-9 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งแต่ละเดือนก็ไม่เท่ากันแล้วแต่ออเดอร์ที่ได้รับมาด้วย แต่หากช่วงไหนที่มีการสั่งเข้ามาเยอะหรือเป็นช่วงเทศกาลก็จะมีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน ตรงนี้ต้องขอบคุณ อย.ด้วย ที่เมื่อมีมาตรฐาน Primary GMP ก็ชัดเจนว่าทำให้ขายได้เพิ่มมากขึ้น
          อาหารดีๆ ของดีๆ ในประเทศไทยยังมีอีกมากมาย ก่อนเลือกซื้อก็ลองพิจารณาว่ามีมาตรฐาน Primary GMP หรือไม่ เพราะหากมีมาตรฐานนี้รับรองว่าสะอาด ปลอดภัย ควรซื้อเป็นของฝาก นอกจากได้ของอร่อยแล้วยังเป็นการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศอีกทางหนึ่ง.


pageview  1205015    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved