HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 04/07/2560 ]
ชุมชนช่วยบำบัด "ผู้ป่วยจิตเวช"

  คนไทยจำนวนมากยังมองว่า "ผู้ป่วยจิตเวช" เป็นอันตรายต่อสังคม ยิ่งมีการนำเสนอข่าวผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรงก็ยิ่งหวาดกลัว กลายเป็นการตีตราผู้ป่วยจิตเวช ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่กล้าใช้ชีวิตในสังคม และไม่กล้าเข้ามารับการรักษา ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ป่วยจิตเวช เมื่อรับประทานยาเป็นประจำก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ในสังคม
          และเมื่อยิ่งได้รับโอกาสจากสังคม ทำให้กล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งช่วยให้พวกเขามีชีวิตเป็นปกติมากขึ้น ลดโอกาสที่จะมีอาการกำเริบได้อย่างมาก เรียกได้ว่า "ชุมชน" มีส่วนอย่างมากในการช่วยดูแลและบำบัดให้ "ผู้ป่วยจิตเวช" สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ในสังคมน.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตโดยชุมชนมีส่วนสำคัญอย่างมาก คือ ถ้าคนในชุมชนเข้าใจและยอมรับการเจ็บไข้ได้ป่วยทางด้านสุขภาพใจ ที่เราเห็นแปลกๆ และไม่เหมือนคนอื่น คือการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรค ตรงนี้ก็จะทำให้คน ในชุมชนได้ตระหนัก ไม่วิ่งหนี ไม่ดูถูก ไม่ว่าเขา ตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สุด ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะนำคนเหล่านี้มารักษา ขณะเดียวกันคนผ่านการดูแลรักษาเมื่อกลับมาสู่ชุมขน ชุมชนเข้าใจเขาก็จะไม่รังเกียจ ไม่กลายเป็นตราบาป มีที่ยืนในสังคม ให้โอกาสเขา เขาก็สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าได้นั่นเอง
          ตัวอย่างของพื้นที่ที่ "ชุมชน" ให้โอกาส "ผู้ป่วยสุขภาพจิต" หรือ "ผู้ป่วยจิตเวช" ได้มีพื้นที่ยืนในสังคม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้เป็นปกติคือ พื้นที่ ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
          โดย นางจิดาภา อิ่นแก้ว อายุ 49 ปี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดีเด่นด้านสุขภาพจิตชุมชนระดับประเทศ ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ตนไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่มาอยู่พื้นที่นี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็พบว่า สมัยก่อนคนในชุมชนยังมีความรังเกียจผู้ป่วยจิตเวชอยู่ โดยมองว่าเป็นผีบ้า เกิดความรู้สึกกลัว โดยเฉพาะกลัวที่จะถูกทำร้าย ส่วนผู้ป่วยก็จะถูกญาติๆ ขังไว้ในบ้าน เพราะคนภายนอกรังเกียจ ตนจึงเริ่มดำเนินการลดการตีตรา เพื่อให้คนปกติและผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยดำเนินการผ่านการตั้งชมรมอุ่นใจขึ้นเมื่อปี 2553
          การทำให้คนปกติและผู้ป่วยยอมรับกันและกัน และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้นั้น นางจิดาภา อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องพยายามดึงผู้ป่วยจิตเวชออกมาสู่โลกภายนอกให้ได้ก่อน และสร้างการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคนภายในชุมชน ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการดึงผู้ป่วยจิตเวชให้กล้าออกมาสู่สังคมภายนอกค่อนข้างเป็นเรื่องยาก แต่ก็อาศัยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ชักชวนให้ออกมาโลกภายนอก โดยพยายามทำให้ผู้ป่วยเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง เช่น ถึงป่วยก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ฝึกการดูแล ตัวเอง เพราะหากเมื่อไม่มีญาติคอยดูแลแล้วจะได้ดูแลตัวเองได้ การพาไปดูงานดูการฝึกอาชีพของผู้พิการ ว่า เขาก็มีความลำบากไม่ต่างกัน แต่เขาก็ฮึดสู้ที่จะใช้ชีวิต ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เห็นคุณค่าในชีวิตของตัวเอง ก็เป็นการเปิดประตูให้เขาออกมาสู่โลกภายนอก
          "ขณะเดียวกันก็มีการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับคนในชุมชนด้วย โดยมีการจัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน ให้คนในชุมชนเห็นว่า การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชไม่ใช่เกิดจากผีบ้า แต่เป็นโรคทางใจอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษาได้ การกินยาอย่างต่อเนื่องก็ช่วยให้มีอาการเหมือนคนปกติ ก็เหมือนกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต เป็นต้น ที่ต้องมีการกินยาควบคุมอาการอย่าง ต่อเนื่อง ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเช่นกัน" นาง จิดาภา กล่าว
          นางจิดาภา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีให้ผู้ป่วยและญาติได้ออกมาจับเข่าคุยกับคนในชุมชน และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน พร้อมด้วยนักจิตวิทยา นักวิชาการเข้ามาร่วมคุยให้ข้อมูล เช่น ผู้ป่วยและญาติรู้สึกยังไงต่อคนในชุมชน อยากให้เขาเข้าใจเราอย่างไร และคนในชุมชนก็สะท้อนความเห็นว่าอยากให้ผู้ป่วยและญาติปรับตัวอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งทุกอย่างทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดก็สามารถเปลี่ยนความคิดของคนในชุมชนได้ ทุกวันนี้ไม่มีการตีตราผู้ป่วยเลย ผู้ป่วยก็สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่เก็บตัวในบ้าน สามารถดูแลตนเองได้ และบางส่วนก็ได้รับการจ้างงาน ซึ่งผู้ป่วย 25 คน มีบริษัทมาจ้างไปทำงานแล้วถึง 4 คน ซึ่งก่อนที่จะได้รับการจ้างงานก็จะได้รับการประเมินก่อนว่าสามารถควบคุมอาการ ดูแลตัวเอง และสามารถทำงานได้จริง
          ยกตัวอย่าง "น้าเอ" ผู้ป่วยจิตเวชหญิง อายุ 52 ปี ต.แม่ปูภา เดิมเป็นครูสอนอนุบาล แต่ต่อมาเกิดอาการหูแว่วประสาทหลอน บอกว่าได้ยินและเห็นแต่คนตาย คนในหมู่บ้านก็บอกให้ไปเข้าทรงสุดท้ายก็สติหลุดไปเลย แต่เมื่อเข้าสู่การบำบัด กินยาต่อเนื่องมา 5 ปีอาการก็ดีขึ้น เมื่อได้รับการประเมินว่าสามารถทำงานได้ ก็ได้รับโอกาสจากบริษัทรับจ้างเอกชน โดยส่งไปทำงานใน รพ.สต.บ้านป่าสักน้อย ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยช่วยทำหน้าที่กวาดพื้น ติดฉลากซองยาใน รพ.สต. ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ป่วยจิตเวชที่เมื่อดูแลรักษากินยาต่อเนื่องจนเป็นปกติ ก็ได้รับโอกาสในการทำงาน เลี้ยงดูตัวเองได้ และคนในสังคมยอมรับ
          เช่นเดียวกับ "นายบี" ผู้ป่วยจิตเภท อายุ 46 ปี ซึ่งปัจจุบันก็สามารถออกมาทำงาน ดูแลตัวเองได้ โดยทำงานขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่หน้ากาดสันกำแพง
          นายบี เล่าว่า ตนป่วยตั้งแต่อายุ 14 ปี ก็รู้สึกว่าตัวเองป่วย หงุดหงิดขี้โมโห ไม่อยากทำอะไร แต่ก็รักษามาตลอดจนอายุ 46 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะอาศัยอยู่แต่ภายในบ้าน ไม่ออกไปไหน ยิ่งตอนช่วงคุณแม่เสียยิ่งไม่อยากออกไปทำอะไรเลย แต่เมื่อได้รับการชักชวนให้ออกมาสู่โลกภายนอก ก็ต้องขอบคุณเพราะตอนนี้เหมือนกลายเป็นคนใหม่ไปเลย ทำให้เรารู้สึกอยากคุย อยากมีเพื่อน อารมณ์ก็เย็นลง อย่างตอนนี้ก็มีเพื่อนจำนวนมากที่ให้การยอมรับเรา
          "เมื่อชุมชนมีการให้โอกาส เราก็กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมากขึ้น อย่างตอนนี้ผมก็ได้รับการจ้างงานเป็นคนทำความสะอาดที่บริษัทแห่งหนึ่ง ก็จะไปทำงานช่วงเช้า หลังกลับจากทำงานก็ไปช่วยพี่สาวขายลอตเตอรี่ที่กาดเมืองสันกำแพง" นายบี กล่าว
          ขณะที่ป้าจันทร์เพ็ญ พี่สาวของนายบี ระบุว่า เชื่อว่าไม่มีใครอยากเกิดมาแล้วป่วย ตอนแรกที่เห็นน้องป่วยก็เสียใจมาก แต่เมื่อป่วยแล้วก็ต้องดูแลกันไปตลอดชีวิต ซึ่งการดูแลยอมรับว่าเหนื่อยแต่ก็ทิ้งกันไม่ได้ ก็พยายามเข้าใจกันดูแลกัน โดยเฉพาะเรื่องการกินยา ต้องกินให้ต่อเนื่องอย่าให้ขาด ซึ่งบางทีเขาก็จะมีอารมณ์พุ่งขึ้นบ้าง เอะอะโวยวาย แต่ไม่เคยทำร้ายใคร เมื่อมีความร่วมมือของคนในชุมชนมากขึ้น ในการให้โอกาส พอน้องได้ออกมาอยู่ในสังคมมากขึ้น ครอบครัวเราก็ได้รับการยอมรับ น้องก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ดูแลตัวเองได้ เช้าก็ไปทำงาน ทำให้เราหายห่วงไปมาก
          สองตัวอย่างนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อผู้ป่วยจิตเวชได้รับโอกาสจากสังคม ทำให้พวกเขามีที่ยืน รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เขาก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ ขอเพียงลดการตีตรา และเปิดโอกาสให้พวกเขาเท่ากับว่าพวกเราได้มีส่วนร่วมในการช่วยดูแลและบำบัดเขาให้มีชีวิตได้ตามปกติในที่สุด.


pageview  1205153    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved