HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 06/03/2555 ]
การเลี้ยงลูก..ช่วยพ่อแม่ฝึกธรรมะได้

 พอถึงช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวพุทธศาสนิกชนมักจะประกอบกิจด้วยการเข้าวัดทำบุญ ยิ่งครอบครัวไหนมีลูกเล็กเด็กแดงก็ชวนกันไปทำบุญทำทาน ทำให้ลูกหลานเกิดความคุ้นเคยยึดถือปฏิบัติตามแบบอย่างจากการเรียนรู้ประสบการณ์ตรง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ส่งผ่านความรู้ และสอดแทรกให้ลูกได้เข้าใจตามวัย และเรียนรู้ว่าวันสำคัญทางพุทธศาสนามีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร
          แต่ในความเป็นจริงเรื่องธรรมะสามารถสอดแทรกในชีวิตประจำวันได้ทุกวัน ไม่ใช่สอนเฉพาะเมื่อพาลูกเข้าวัดเท่านั้น
          เพราะการเลี้ยงลูก..พ่อแม่ต้องใช้ธรรมะ
          พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร      ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ผู้ที่ใช้เวลาว่างปฏิบัติธรรม เรียนรู้ธรรมะมานานกว่า 30 ปี  จนได้นำเอาหลักธรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง นำหลักการ คำสอนของพระพุทธเจ้าไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูก และดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีสติ
          คุณหมอได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Mother&Care  มีข้อคิดที่   น่าสนใจยิ่ง ดิฉันขอตัดทอนบางส่วนนำมาฝากเพื่อนผู้อ่าน เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชาที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ค่ะ
          "ปัญหาทางสังคมของเราที่พบก็คือ    รูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวสมัยใหม่เปลี่ยนไป แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง ทำให้เด็กได้รับการสนองตอบจากพ่อแม่อย่างเต็มที่ในด้านวัตถุ เด็กยุคนี้จึงปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลง และการดำเนินชีวิตได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับเด็กสมัยก่อนๆ  เกิดปัญหาเรื่องการปรับตัว อยู่ร่วมกับคนในสังคมยากขึ้น เช่น ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนผู้อื่นได้ดีนัก เปลี่ยนงานบ่อย  นี่แหละ คือปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ เป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ต้องช่วยดูแล สั่งสอนลูก
          ดังนั้นธรรมะจึงเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญในการทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างแท้จริง  เพราะธรรมะสอนให้รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับชีวิต ไม่ได้หมายความว่าต้องไปวัด นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์อย่างที่เข้าใจกัน แต่เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นการสอนให้เรียนรู้เรื่องของตัวเรา ทั้งหมดเป็นเรื่องของใจ ของความรู้สึก  เช่น สอนว่าตัวเราเป็นอย่างไร  พ่อแม่ลูกเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยที่เราคิดว่ารู้ไปแล้วแต่จริงๆ ยังไม่รู้
          ถ้ามองในแง่ทางการแพทย์มีข้อมูลที่บอกได้ว่า  เด็กที่ถือกำเนิดคลอดออกมา จะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นพันธุกรรม  และส่วนการเลี้ยงดูจากสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างละ 50%  ด้วยความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก อะไรที่คิดว่าดีก็อยากให้ลูกได้รับไปจนหมด  แต่ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี รู้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง  พ่อแม่จะสอนลูกอย่างไร เพราะพ่อแม่ คือแบบอย่าง  เป็นเบ้าหลอมของลูก ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ  และนำมาเรียนรู้ให้เกิดปัญญากับตัวเองก่อนแล้วจึงนำไปถ่ายทอด สอนลูกได้ค่ะ"
          หลักธรรมที่เหมาะกับลูกในแต่ละวัยแต่ละวัย
          ในเด็กเล็กจะมีการเรียนรู้ได้จากเสียง การสัมผัส  กิริยาท่าทาง สิ่งที่พ่อแม่แสดงออก ถ้าลูกเห็นพ่อแม่ในแต่ละวัน มีอารมณ์โวยวายใส่กัน ลูกก็จะเห็นสิ่งนั้นอยู่บ่อยๆ แม้ยังฟังไม่ออก แต่เห็นท่าทางก็เป็นการสอนโดยการกระทำไปแล้ว แม้คำพูดที่บอกลูกให้ทำแต่สิ่งที่ดีก็ตาม พ่อแม่จึงต้องรู้จักฝึกจิต ทำความรู้สึกตัว นั่นคือ การมีสติสัมปชัญญะ ตรงกับปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่สอนไม่ให้ประมาท
          ยกตัวอย่างลูกวัยรุ่น คุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ ลูกอยากมีเพื่อน อยากมีความเป็นส่วนตัว แม่จะรู้สึกว่าคุยอะไรกัน 2-3 ชั่วโมง แต่เวลาคุยกับแม่แค่ 2-3 ประโยค ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลูกรู้สึกว่า คุยกับแม่ไม่สนุก แต่ถ้าสร้างความคุ้นเคยให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยแม่เป็นผู้ฟัง ฟังเมื่อลูกอยากจะเล่า ไม่ใช่พอลูกจะเล่า แต่แม่เหนื่อยยังไม่อยากฟัง พอหายเหนื่อยจะไปฟัง ลูกไม่อยากเล่าแล้ว
          ขอย้ำว่า เมื่อมีเขาแล้วไม่ใช่ให้แต่วัตถุ เราต้องให้เวลา ในเวลาที่เขาอยากได้ หรือลูกคุยกับเพื่อนนาน แม่อยากรู้ เลยแอบฟังลูกคุย  แบบนี้ถือเป็นเรื่องก้าวก่าย
          พ่อแม่มักคิดว่า ลูกเป็นสมบัติของตน  จึงพยายามทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งคิดว่าดีที่สุด  เช่น ในการคบเพื่อน พ่อแม่สนใจไต่ถามเรื่องเพื่อนลูกได้  แต่ไม่ใช่วิจารณ์หรือตำหนิในส่วนไม่ดีของเพื่อนลูกโดยที่ลูกยังรับไม่ได้
          ที่สำคัญ ควรรู้ว่าสถานะของพ่อแม่เป็นเพียงที่ปรึกษาและรับฟัง แต่เรื่องตัดสินใจเป็นของลูก นี่ก็เป็นการฝึกจิตของพ่อแม่ให้รู้ฐานะและมีความอดทนไม่ก้าวก่าย พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้ถูกทางอย่างมีปัญญา  พ่อแม่ต้องเข้าใจได้ว่า การอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวคือ การเคารพความดีของตนเอง ไม่ก้าวล่วงในสิ่งที่ผิดของผู้อื่น เช่น เวลาที่แม่โกรธเพราะลูกดื้อ แล้วก็เผลอลงมือกับลูก ถึงจะบอกเหตุผลตามหลังก็ตาม  แต่ลูกเข้าใจไปแล้วว่า เวลาถูกขัดใจต้องส่งเสียงแบบนี้ ต้องตีแบบนี้
          การสอนลูกก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มที่พ่อแม่ปฏิบัติตัว เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
          เห็นไหมคะ.การเลี้ยงลูกก็เป็นการฝึกธรรมะอย่างหนึ่งค่ะ


pageview  1204937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved