HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 04/12/2556 ]
ผู้ชุมนุมเครียดพุ่งแนะยืดเส้นยืดสาย
ASTVผู้จัดการรายวัน - กรมสุขภาพจิตพบกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่มีความเครียดมากกว่าคนภายนอก17% แนะวิธีผ่อนคลายทั้งผู้ชุมนุมและผู้ปฏิบัติงาน ให้ยืดเส้นยืดสายคุยเรื่องอื่น ทำกิจกรรมบันเทิง
          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุขอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจความเครียดของประชาชนในพื้นที่ชุมนุมและนอกพื้นที่ชุมนุมทั่วไป ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.ที่ผ่านมา  พบประชาชนไทย 2 ใน3 ประสบภาวะตึงเครียด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชุมนุมมีระดับความเครียดสูงกว่าประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมถึงร้อยละ 17 ซึ่งน่าเป็นห่วงและต้องระมัดระวังพิเศษเพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การเมืองร่วมกับสิ่งแวดล้อม และสื่อรอบตัวที่มีความเข้มข้นทางอารมณ์สูงตลอดเวลา ความเครียดมีผลกระทบดังนี้ 1. ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่นนอนไม่หลับ เมื่อยล้า ปวดตึงศีรษะ เหนื่อยง่าย 2.ผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ว้าวุ่นใจ หงุดหงิดง่ายก้าวร้าว ฟุ้งซ่านอารมณ์ขึ้นลงไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จนเกิดภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าเรื้อรังและถ้ายิ่งเครียดมากเครียดนานอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ และ 3.ผลกระทบต่อสัมพันธภาพและสังคมใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลจนมีโอกาสควบคุมไม่อยู่ นำมาสู่การสูญเสียเพื่อนและสัมพันธภาพอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย
          นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่น่าเป็นห่วงแล้ว กลุ่มผู้ปฏิบัติงานบุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ผู้ให้ความช่วยเหลือ มูลนิธิหรือจิตอาสาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ง่ายต่อการเกิดความเครียดคุกคามจากสภาพที่ไม่ปลอดภัย การไม่ได้กินนอนตามปกติ การทำงานเร่งด่วนภายใต้แรงกดดัน งานไม่เป็นไปอย่างคาดหวังเกิดความกลัว ความผิดหวัง ความโกรธ ความสิ้นหวัง เห็นใจผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งภาวะเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความเครียดที่เรื้อรังได้ และยิ่งสถานการณ์รุนแรงเท่าไหร่ก็มักจะเกิดความเครียดมากขึ้นเท่านั้น
          สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยลดภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ชุมนุมและผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ให้ความช่วยเหลือ ขอแนะนำให้พยายามดำเนินรูปแบบการใช้ชีวิตโดยกินนอนให้ได้ตรงเวลา หาวิธีผ่อนคลาย จัดการกับความเครียดเช่น กลุ่มผู้ชุมนุมอาจทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย ทำกิจกรรมบันเทิงร่วมกันพูดคุยเรื่องอื่น หรือหลบไปอยู่ในที่เสียงไม่ดังมาก กลับไปพักผ่อนที่บ้าน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวแล้วค่อยกลับมาใหม่ เป็นต้น
          ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าขณะนี้ทีมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่บริเวณนางเลิ้งและโรงพยาบาลเพื่อดูแลทางด้านสุขภาพจิตของผู้ชุมนุมและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว ซึ่งวิกฤตทางด้านจิตจะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤตทางกาย อาการเริ่มต้นอาจจะเครียด นอนไม่หลับ โมโหหงุดหงิด หลังจากการเหตุการณ์คลี่คลายจะต้องมีการติดตามประเมินอาการทางสุขภาพจิตต่อไป3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

pageview  1205919    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved