HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 24/09/2556 ]
อยุธยาน้ำล้นตลิ่ง อีสานอ่วม-จระเข้หลุด!

 ASTVผู้จัดการรายวัน - น้ำท่วมยังน่าห่วงจ.ศรีสะเกษ ถนนถูกตัดขาดหลายสายรถไฟหยุดวิ่ง เหตุน้ำท่วมราง อ.อุทุมพรพิสัยอ.ห้วยทับทัน ชาวบ้านผวาจระเข้หลุดจากฟาร์ม 30 ตัว จับได้แค่ 4 ตัว บุรีรัมย์ระทึก!น้ำท่วมล้อมฟาร์มจระเข้กว่า 500 ตัวสูงเกือบ1 เมตร หวั่นต้านไม่อยู่ เล็งย้ายไปที่ปลอดภัยด้านชาวโผงเผง จ.อ่างทอง ทุกข์หนักกบหายตามน้ำนับหมื่นตัว สธ.สั่งสถานพยาบาลลพบุรี-อยุธยา ย้ายเครื่องมือแพทย์เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัย
          วานนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในอ.วังหิน จ.ศรีสะเกษว่ากำลังทวีความรุนแรง เนื่องจากน้ำที่ล้นจากอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู และอ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ทะลักลงท่วมบ้านเรือนประมาณ300 หลัง ถนนถูกน้ำท่วมตัดขาดจากโลกภายนอก เช่น ถนนบ้านหนองทุ่ม บ้านป่าชาดบ้านตีกา บ้านโนนดู่ และบ้านหนองตาเชียงต.โพนยาง ขณะเดียวกัน ที่บ้านหนองตาเชียงต.โพนยาง น้ำได้ท่วมเข้าไปในบ้านเรือนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย มีปลาเข้าไปแหวกว่ายอยู่ในห้องนอน ชาวบ้านบางส่วนพากันหาปลาไว้เป็นอาหารประทังชีวิต ซึ่งสามารถจับปลาได้จำนวนมาก ส่วนที่โรงเรียนประถมศึกษาในเขตต.โพนยาง และต.ศรีสำราญ อ.วังหิน  ต้องปิดเรียนไม่มีกำหนดขณะเดียวกัน สถานีรถไฟอ.อุทุมพรพิสัยประกาศหยุดเดินรถไฟ เนื่องจากน้ำได้ท่วมรางระหว่างอ.อุทุมพรพิสัย ไปอ.ห้วยทับทันและอ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์
          ส่วนจระเข้ที่หลุดออกจากฟาร์ม ต.ตูมอ.ปรางค์กู่ 30 ตัว ตามจับคืนได้แค่ 4 ตัวอีก 26 ตัวยังจับไม่ได้ ซึ่งผู้นำหมู่บ้านได้เตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายแล้ว
          นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเพียงอ.ขุขันธ์ อ.ไพรบึง อ.ปรางค์กู่ อ.วังหินอ.พยุห์ และอ.อุทุมพรพิสัย ที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 916 หมู่บ้าน ส่วนอ.เมือง คาดว่าน้ำจะท่วมช่วงเย็นวันที่  23 กันยายน ซึ่งได้ร่วมกับประชาชนเตรียมการป้องกันไว้แล้วคาดว่าจะสามารถรับมือได้
          จ.บุรีรัมย์ น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรักทะลักเข้าท่วมวัด บ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร 6 หมู่บ้านต.หินลาด อ.บ้านกรวดล่าสุดยังท่วมพื้นที่โดยรอบฟาร์มจระเข้"เกสรฟาร์ม" ของนางคำนาง ศรีจำปา เลขที่24 หมู่ 7 บ้านหนองม่วง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ
          นางคำนาง กล่าวว่า เลี้ยงจระเข้เพื่อส่งขายโรงฟอกหนังที่จ.ชลบุรี ทั้งหมดอายุ 2 ปีครึ่ง รวม 500 ตัว ที่ผ่านมาน้ำท่วมเพียงเล็กน้อย แต่ในปีนี้น้ำหลากแรงมาก ท่วมพื้นที่นาล้อมรอบฟาร์มสูงกว่า 1 เมตรขณะที่กำแพงปูนบ่อเลี้ยงสูงประมาณ 2 เมตรครึ่ง เกรงว่าหากน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆจะขนย้ายไม่ทัน
          ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หินลาด พร้อมด้วยทหารและเจ้าของฟาร์ม เข้าตรวจสอบความแข็งแรงของบ่อเลี้ยง และจำนวนว่าอยู่ครบหรือไม่ทั้งกำชับให้เจ้าของฟาร์มเฝ้าระวังระดับน้ำหากไม่น่าไว้วางใจ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อขนย้ายไปยังจุดที่น้ำท่วมไม่ถึง
          เวลา 11.00 น. นายพร อุดมพงษ์รองประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะนำถุงยังชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบให้แก่ราษฎรที่หอประชุมอำเภอบ้านกรวดอ.ละหานทราย และอ.ปะคำ รวม 1,250 ครัวเรือน เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และบรรเทาความเดือดร้อน
          ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บุรีรัมย์ รายงานพื้นที่ถูกน้ำท่วม 6 อำเภอ 9 ตำบล 155 หมู่บ้านราษฎรเดือดร้อนกว่า 8,000 ครัวเรือน นาข้าวเสียหายกว่า 3,700 ไร่ บ่อปลา 10 ไร่ถนนเสียหาย 62 สาย ฝายชำรุด 5 แห่ง
          นายคำรบ เครือณรงค์ นายอำเภอนาเยีย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 3 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนกว่า 1,800 ครอบครัว สวนยางพาราและนาข้าวถูกน้ำท่วมกว่า 5,000 ไร่ โดยพื้นที่ประสบภัยหนักที่สุด คือ ต.นาเรือง เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มของลำโดมใหญ่ ที่น้ำล้นตลิ่ง
          ที่ จ.นครสวรรค์ น้ำป่าจากผืนป่าตะวันตก เขตอ.แม่วงก์ และอ.แม่เปิ่น ไหลหลากมาตามคลองขุนราษฎร์บริบาล เข้าท่วมเขตเทศบาลตำบลลาดยาว อ.ลาดยาวเป็นระลอกที่ 2 เนื่องจากคลองไหลผ่านกลางย่านเศรษฐกิจ โดยชาวบ้านเล่าว่า น้ำล้นคลองเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงเช้ามืด โดยเทศบาลได้นำกระสอบทรายมาบล็อกบริเวณสะพานข้ามคลองขุนราษฎร์บริบาลพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออก แต่ระดับน้ำในคลองที่สูงกว่าพื้นถนน 10-15 เซนติเมตร ยังทะลักคันกั้นน้ำเข้าท่วมถนนสูง 5-20 เซนติเมตร ต้องเร่งเก็บของหนีน้ำเพราะหวั่นว่าน้ำจะมามากกว่าครั้งก่อน
          จ.อุทัยธานี น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ไหลลงสู่แม่น้ำตากแดดเหนือเขื่อนวังร่มเกล้า จนต้องเร่งระบายน้ำเพื่อไม่ให้พื้นที่เหนือเขื่อนในต.หนองยายดาและต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน ถูกน้ำท่วมหนักแต่น้ำป่าได้ทะลักเข้าท่วมนาข้าวต.หนองยายดา และต.โคกหม้อ เสียหายเป็นบริเวณกว้างแล้ว นอกจากนี้ยังท่วมบ้านเรือนหมู่ 1-3 ต.โคกหม้อ กว่า 150 หลังนาข้าวที่อยู่ในช่วงตั้งท้องถูกน้ำท่วมจนต้องเร่งเกี่ยวหนีน้ำ ขายได้เพียงเกวียนละ 5,000-7,000 บาทเท่านั้น
          ขณะที่ ต.หนองไผ่แบน ต.เนินแจงอ.เมือง คันดินริมแม่น้ำตากแดดพังลง ส่งผลให้น้ำท่วมนาข้าวเสียหายสิ้นเชิงนับหมื่นไร่และระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากยังระบายน้ำออกจากจากเขื่อนวังร่มเกล้า
          จ.อ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งหมู่ 5 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ชาวบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงกบ ต้องเร่งจับกบออกขายหลังกบจำนวนมากหนีออกจากบ่อเลี้ยงหายไปกับน้ำนับหมื่นตัว โดยนายจำเริญพลอยเปล่ง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10/4 หมู่ 5 ต.โผงเผง กล่าวว่า เลี้ยงกบไว้ 3 บ่อบ่อละ 3,000 ตัว จับขายไม่ทัน ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท
          ด้านนายสมศักดิ์ ผ่องเสนา อายุ 53 ปีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.โผงเผง กล่าวว่า ชาวบ้านหมู่ 5 ที่ขนย้ายทรัพย์สินขนาดใหญ่ขึ้นเก็บบนบ้านไม่ได้ ต้องนำมาไว้ที่ริมถนน ได้ประสานอบต.โผงเผง ขอเต็นท์มาติดตั้งเพื่อเฝ้าระวังทรัพย์สินจากมิจฉาชีพ ส่วนรายที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยก็ต้องอพยพมาอาศัยอยู่ริมถนนเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้ตั้งเต็นท์อยู่ริมถนนป่าโมกบางบาล ล่าสุดได้รับความเดือดร้อน 323 ครัวเรือน 967 คน
          จ.พระนครศรีอยุธยา เขื่อนเจ้าพระยาจ.ชัยนาท ระบายน้ำ 1,912 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที เพิ่มขึ้น 56 ลบ.ม.ส่งผลให้น้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้น 10-20 เซนติเมตร(ซม.) จนอ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาลอ.บางปะอิน อ.บางไทร คลองบางหลวงคลองโผงเผง และคลองบางบาล ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 20-30 ซม. พื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหาย 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนาอ.บางบาลอ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทรอ.บางปะอิน อ.ท่าเรือ และอ.นครหลวงรวม80 ตำบล 405 หมู่บ้าน 11,908 ครัวเรือน
          ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำ 550.60 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้น 19.15 ลบ.ม. อาจส่งผลให้แม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่อ.ท่าเรืออ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา ทรงตัวหรือขึ้นบ้างเล็กน้อย โดยที่เหนือเขื่อนพระราม6 มีผักตบชวาและเศษวัชพืชสะสมจนสามารถลงไปเดินได้
          ที่หน้าวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อมอ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เร่งทำแนวคันดินสูงกว่า 3 เมตรล้อมรอบป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมซ้ำรอยปี 2554 ขณะที่ อ.เสนา ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดบ้านแพน ตั้งแต่เวลา 04.00 น. พ่อค้าแม่ค้าต้องเร่งเก็บข้าวของหนีน้ำช่วยกันทำสะพานไม้เป็นทางเดินเข้าตลาดบางส่วนสร้างกำแพงปูนปิดหน้าร้านกันอย่างวุ่นวาย ขณะที่แม่ค้าตลาดสดต้องเก็บของกลับบ้าน เพราะไม่มีประชาชนมาจับจ่ายสินค้า
          นายชูชาติ ศุภวรรธนางกูร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าระดับน้ำอยู่ที่ 2.25 เมตร ต่ำกว่าแนวเขื่อนที่สูง 3.35 เมตร ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ จะเร่งระบายน้ำให้อยู่ที่ 1.60 เมตร เพื่อเตรียมรับน้ำจากอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
          นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่อ.พระนครศรีอยุธยาอ.บางบาล อ.บางปะอิน อ.บางไทร คลองบางหลวง คลองโผงเผง และคลองบางบาลระดับน้ำเพิ่มขึ้น 20-30 ซม. แม่น้ำน้อยอ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.บางไทร เพิ่มขึ้น 10-20 ซม. แม่น้ำลพบุรี อ.บ้านแพรกอ.มหาราช อ.บางปะหัน อ.พระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น 10-20 ซม. เฉลี่ยแล้วมีน้ำล้นตลิ่ง 20-150 ซม. โดยเฉพาะที่อ.บางบาล เนื่องจากเป็นที่ลุ่มรับน้ำอยู่แล้ว ส่วนตัวเมืองโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจหรือชุมชน ได้ทำพนังกันน้ำไว้สูง 2.30 เมตร สรุปแล้วมีพื้นที่น้ำล้นตลิ่ง 8 อำเภอ 80 ตำบล 1 เทศบาลเมืองรวม 405 หมู่บ้าน 11,908 ครัวเรือน วัด 7 แห่ง ซึ่งทางจังหวัดได้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว
          นายวิศวะ ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง รายงานว่า ต.โผงเผงอ.ป่าโมก น้ำท่วม 8 หมู่บ้านจาก 10 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 350 ครัวเรือนทั้งนี้คลองโผงเผง ตลิ่งจะสูง 4 เมตร แต่ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 6 เมตรส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมน้ำ เพราะยังมีคันกั้นน้ำที่เป็นแนวถนน ระดับน้ำก็ห่างจากแนวถนน 2-3 เมตร ปริมาณน้ำเป็นเพียง 1 ใน 10 ของปี 2554 นอกจากนี้อ.เมืองฯ มีความสุ่มเสี่ยงจากคันดินที่ทรุดตัวทำให้ระดับน้ำปริ่มตลิ่ง
          ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิปสว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่าอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน ที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่อง หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน รวม 15 จังหวัด คือนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีกาญจนบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยาอ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี นครสวรรค์พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และปราจีนบุรี
          พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมมีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงสั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพร่วมกับสำนักงานปภ.จังหวัดทั้ง 15 จังหวัดช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด และให้รายงานตามสายบังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง
          ทั้งนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม จัดกำลังพล1,500 นาย รถบรรทุก 35 คัน รถโกยตัก 5 คัน รถลากจูง 3 คัน เรือท้องแบน 29 ลำเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ขนย้ายสิ่งของ สนับสนุนการสัญจร ซ่อมแซมคอสะพาน เปิดเส้นทางสัญจรที่ถูกดินโคลนถล่ม สนับสนุนจังหวัดจัดตั้งศูนย์พักพิงรวมทั้งติดตั้งพนังกั้นน้ำ
          พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้เตรียมพร้อมเรือหลวงตาปี และเรือหลวงสีชัง เฮลิคอปเตอร์2 ลำ หมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล และส่งเรือผลักดันน้ำ 16 ลำ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงในคลองบางเขน คลองทวีวัฒนา และคลองพระยาราชมนตรี เพื่อสนับสนุนการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนกรุงเทพฯว่า น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน
          สธ.สั่งสถานพยาบาลย้ายเครื่องมือ
          นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานบริการในสังกัดได้รับผลกระทบ 5 แห่งใน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุรินทร์ 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลสุรินทร์ น้ำท่วมห้องฉุกเฉิน และรอบโรงพยาบาล ขณะนี้น้ำลดแล้ว สามารถให้บริการได้ตามปกติ ส่วนรพ.ศรีขรภูมิและรพ.สำโรงทาบ น้ำท่วมทางเข้า แต่ยังเปิดให้บริการได้ คาดว่าภายใน 2-3 วันจะกลับสู่ภาวะปกติ
          นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า อีกแห่ง คือจ.สระแก้ว เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถูกน้ำท่วม 2 แห่ง คือรพ.สต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง และรพ.สต.คลองตะเคียน อ.วัฒนานคร รสูง 50-70 ซม. ปิดให้บริการชั่วคราว ย้ายไปให้บริการที่รพ.สต.ใกล้เคียงแทน
          "ผมได้ให้สถานพยาบาลที่อยู่ในจ.ลพบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้ขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่ปลอดภัยเตรียมระบบสำรองไฟฟ้า นอกจากนี้ให้สำรวจกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนพักที่บ้าน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ โดยวางแผนให้การช่วยเหลือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง"


pageview  1205163    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved