HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 27/08/2556 ]
"เล็บปลอม"ภัยใกล้ตัวของสาวๆ

 แน่นอนว่าคุณผู้หญิงหลายคนคงชอบเวลาที่ได้เห็นเล็บยาวสวยสีสันสดใสรับกับมือของเรา แต่บางครั้งเล็บมือในความเป็นจริงของเราอาจจะไม่ได้ดั่งใจปรารถนาสักเท่าไหร่ เพราะปัญหาเล็บเปราะบางคงทำให้หลายคนอดไว้เล็บสวยๆ ได้ เล็บปลอมจึงมีไว้ตอบสนองสาวๆ เหล่านี้อย่างเหมาะเจาะ
          แต่ใครจะไปเชื่อว่า การต่อเล็บเป็นภัยใกล้ตัวที่พึงระวัง เพราะผลการตรวจจากห้อง ปฏิบัติการ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จากการตรวจกาวที่ใช้ติดจำนวน  23 ตัวอย่าง พบสารเคมีอันตรายชนิดเอทิลไซยาโนอะคริเลตถึง 21 ตัวอย่าง ซึ่งมีปริมาณถึงร้อยละ 0.22 - 99 ในส่วนผสม ซึ่งหากใช้แบบไม่ระมัดระวังโดยไม่มีเครื่องป้องกันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อบุตา ระบบทางเดินหายใจและเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้
          ปัจจุบัน การต่อเล็บปลอมที่นิยมในประเทศไทย มีอยู่ด้วยด้วยกัน 2 ชนิด คือ 1.เล็บปลอมที่ทำขึ้นจากสารเคมี ไม่มีลวดลาย ต้องทำที่ร้านทำเล็บ โดยผู้ที่ผ่านการอบรมในการเขียนรูป การขึ้นรูปซึ่งจะมีราคาแพง 2. เล็บปลอมที่ทำจากพลาสติก ส่วนใหญ่จะมีลวดลายอยู่แล้วราคาไม่แพงสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป และชนิดนี้มักเป็นที่นิยมของสาวๆ เพราะสามารถทำได้ด้วยตนเองเพียงการนำเล็บปลอมมาติดกับเล็บจริง โดยใช้กาวเป็นตัวเชื่อมติด
          การต่อเล็บด้วยตนเองโดยการใช้กาวนี่เองที่สาวๆ ต้องระมัดระวัง หากไม่มีเครื่องป้องกัน เช่น ถุงมือ ผ้าปิดจมูก อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ เนื่องจากกาวที่ใช้เชื่อมติดเป็นชนิด เอทิลไซยาโนอะคริเลต เป็นสารที่ใช้ยึดติดแบบแห้งเร็ว หรือรู้จักกันในชื่อ ซูเปอร์กลู เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งอาจทำผู้สัมผัสสารนี้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมีและไอระเหย และยังทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและทางเดินหายใจ หากเกิดอาการแพ้มากๆ อาจมีอาการช็อกร่วมด้วย รวมไปถึงไม่ควรนำเล็บที่หลุดออกไปแล้วมาติดทับใหม่โดยไม่ทำความสะอาด เนื่องจากเชื้อราและแบคทีเรีย อาจเจริญเติบโตระหว่างชั้นเล็บ จนทำให้ผิวหนังอักเสบได้
          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กฎหมายไทยยังไม่มีการควบคุมกำกับสารเอทิลไซยาโนอะคริเลต ในผลิตภัณฑ์กาวที่ใช้ในเล็บปลอม มีแต่การควบคุมปริมาณฟอร์มัล ดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บเท่านั้น แต่จากผลการวิเคราะห์ครั้งนี้อาจจะนำไปสู่การออกกฎหมาย เพื่อควบคุมปริมาณสารเคมีให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป


pageview  1205500    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved