HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 29/07/2556 ]
วิจัยพบ "กระชายดำ" ยับยั้งแบคทีเรีย


          ASTVผู้จัดการรายวัน -วิจัยพบสารสกัด "กระชายดำ"จากเอทานอล 95% มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในโรงพยาบาลสายพันธุ์ดื้อยาและมีฤทธิ์เสริมยาเซโฟซิตินในการต้านการเจริญของเชื้อตัวนี้ แนะผลิตเป็นสารต้านเชื่อแบคทีเรียนี้ได้
          นายกีรติ จ้อยจำรัส นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย สตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส(Staphytococcus aureus) โดยสมุนไพรไทย" ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่21 ว่า สตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทั้งในโรงพยาบาลและชุมชนปัจจุบันมีรายงานว่าแบคทีเรียนี้มีอุบัติการณ์ดื้อยาหลายชนิดเพิ่มขึ้นมาก โดยชนิดที่สำคัญ คือMethicilin resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ทำให้ในการรักษาผู้ป่วยต้องได้รับยา
          ปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การใช้สมุนไพรไทยจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ
          นายกีรติ กล่าวอีกว่า งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการต้านการเจริญของแบคทีเรีย สตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส ด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทยและศึกษาการเสริมฤทธิ์ของสารสกัดจากสมุนไพรร่วมกับยาปฏิชีวนะในการต้านการเจริญของแบคทีเรียนี้ โดยศึกษาสมุนไพรไทย 11 ชนิด ได้แก่ เหงือกปลาหมอ เพชรสังฆาต กระชายดำ เสลดพังพอนหญ้าหนวดแมว ชะเอมเทศ หญ้าหวาน อัญชัน ขมิ้นชันขมิ้นอ้อย และไพล ซึ่งสกัดด้วยน้ำและเอทานอล95% จากนั้นจึงนำเอาสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์การต้านการเจริญเติบโตของเชื้อดังกล่าว และทดสอบหาความเข้มข้นที่ต่ำสุดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (Minimal inhibitory concentration ;MIC)
          ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดจากสมุนไพรกระชายดำ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาได้ แต่ไม่มีผลต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Methicilin sensitive Staphylococcus  aureus (MSSA) ซึ่งเป็นเชื้อสตาฟิโลค็อกคัส อูเรียสอีกชนิด โดยแสดงขอบเขตการยับยั้งอยู่ในช่วง 12-18 มิลลิเมตร และมีค่า MIC เท่ากับ 0.0195 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร นอกจากนี้ เมื่อทดสอบสารสกัดจากกระชายดำร่วมกับยาปฏิชีวนะในการต้านการเจริญของเชื้อ  MRSA พบว่าสารสกัดกระชายดำและยาเซโฟซิติน(cefoxitin) มีฤทธิ์เสริมกันในการต้านการเจริญของ  MRSA โดยทำให้ค่า  MICของกระชายดำและเซโฟซิติน(cefoxitin) ลดลง จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ากระชายดำมีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นสารต้าน MRSA ได้


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved