HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 25/05/2555 ]
"ไข้หวัดเด็ก" ไม่ต้องจ่ายยาเยอะ"

 ยาแก้ปวด ลดน้ำมูก แก้ไอ ลดไข้... คือชุดยาถุงใหญ่ที่แพทย์มักจ่ายให้เมื่อผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็น"โรคหวัด" ดีไม่ดีอาจแถมยาแก้อักเสบมาด้วย สร้างความสงสัยว่ายาชุดใหญ่ที่จัดเต็มมาให้จะช่วยให้หายขาดได้มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ แล้ว ถ้ากินหมดถุงนี่ทุกขนานครบทุกแผง มีหวังอาจป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ยาที่ต้องแบกกลับบ้านจึงอาจกลายเป็นความกังวลใจสำหรับผู้ปกครอง ล่าสุดมีข้อมูลยืนยันจากประเทศญี่ปุ่นออกมาแล้วว่า การให้เด็กเล็กกินยามีผลเสียมากกว่าผลดีเสียอีก!
          เมื่อยาไม่ได้รักษาโรคจริง
          ความจริงอีกด้านของกรณีนี้ คุณหมอทะสึโอะ โยชิซากิ กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น โรงพยาบาลชินเซไคโทยามา ผู้เขียนหนังสือ "Happy Advice รู้ก่อนหายไว ฉบับโรคภัยไข้เจ็บในเด็ก" ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "สิ่งที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทราบไว้แรกสุดคือ ยาจำพวก ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ฯลฯ ไม่ได้รักษาโรคหวัดหรือย่นระยะเวลารักษาแต่อย่างใด เพียงบรรเทาอาการต่างๆ อย่างเช่น ไอ มีน้ำมูก หรือมีเสมหะ เท่านั้น"
          อย่างไรก็ดี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหวัดจำนวนหนึ่งคุ้นเคยกับการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และได้รับยาต่างๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาแก้หวัดคัดจมูก บางรายอาจได้รับยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบกลับมาเพื่อรักษาอาการต่างๆโดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นคือการรักษาที่ถูกวิธีที่สุดแล้ว แต่ถ้าหากลองนึกย้อนถึงอาการป่วยด้วยโรคหวัดเมื่อ20-30 ปีที่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนรวมทั้งทีมงาน Life & Family หายจากไข้หวัดโดยการดื่มน้ำมากๆนอนพักผ่อนเยอะๆ และมีคุณพ่อคุณแม่เช็ดตัวให้อย่างทะนุถนอม สอดคล้องกับคำตอบของคุณหมอทะสึโอะที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ยาที่แก้หวัดโดยตรงนั้นไม่มี!
          "ยาที่แก้หวัดโดยตรงไม่มีหรอกครับ เพราะฉะนั้น ถึงจะกินยาพวกนี้ก็ไม่ได้ทำให้หายไข้ หรือย่นระยะเวลารักษาลง วิธีคิดที่ว่า "พอมีไข้ก็ให้ยาปฏิชีวนะ" เป็นแผลก็ต้องให้สารต้านจุลชีพนั้น ไม่ค่อยจะมีผลดี กลับดูจะมีผลร้ายเสียมากกว่า ส่วนแนวคิดที่ว่า "เอาเป็นว่าจ่ายยาปฏิชีวนะไว้ก่อน" นั้นเป็นความคิดที่โบราณ สมัยนี้มีน้อยลงทุกที นอกจากนี้ สาเหตุของไข้หวัดกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ว่ากันว่ามาจากไวรัส และยาปฏิชีวนะนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลกับไวรัส ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ค่อยนิยมความคิดที่ว่า เป็นหวัดแล้วให้ยาปฏิชีวนะทันที"
          ให้เด็กกินยา เสียมากกว่าได้
          อ้างอิงจากหนังสือ Happy Advice รู้ก่อนหายไว ฉบับโรคภัยไข้เจ็บในเด็ก คุณหมอทะสึโอะกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "ยาปฏิชีวนะ=ยาต้านจุลชีพ=สารต้านจุลชีพ แม้คำศัพท์จะต่างกัน แต่ก็คือสิ่งเดียวกัน ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้น ยาปฏิชีวนะครอบคลุมกว้างกว่ายาต้านจุลชีพและสารต้านจุลชีพครับ ยาต้านจุลชีพเป็นยาที่ใช้ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ซึ่งไม่เพียงฆ่าเชื้อแบคทีเรียฝ่ายร้ายเท่านั้น แต่มักฆ่าแบคทีเรียฝ่ายดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราไปด้วย จริงๆ แล้วมีแบคทีเรียฝ่ายดีมากมายอาศัยอยู่ในจมูก คอ ผิวหนัง ลำไส้ ฯลฯ (เรียกว่าแบคทีเรียประจำถิ่น) คอยทำหน้าที่สำคัญ ป้องกันไม่ให้ไวรัสและแบคทีเรียบุกรุกเข้ามาได้ สิ่งที่ควรรู้คือยาต้านจุลชีพจะส่งผลกระทบถึงแบคทีเรียประจำถิ่นไปด้วย"
          คำเตือนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่พึ่งพิงการใช้ยาในการรักษาโรคห่อเหี่ยวใจ แต่ต้องอย่าลืมว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นมีพลังตามธรรมชาติที่สามารถต่อกรกับโรคหวัดได้เช่นกัน นั่นก็คือ อาการมีไข้ มีน้ำมูก ไอ ท้องเสีย อาเจียน นั่นเอง
          "การมีไข้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเพื่อจะได้ต่อสู้กับสาเหตุของโรค(ไวรัสและแบคทีเรีย) อย่างได้เปรียบ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไวรัสและแบคทีเรียก็จะทำงานยากขึ้น"
          พร้อมกันนี้ คุณหมอยังได้ยกตัวอย่างกรณีการรักษาในประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ด้วยว่า "เทียบกับประเทศอื่นแล้วที่ญี่ปุ่น อะไรๆ ก็หันหน้าพึ่งยา หรือจะบอกว่าผู้คนมีแนวโน้มสูงที่หวังจะพึ่งพายามากจนเกินไปก็ได้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่มีงานนอกบ้านในบ้านต้องทำ อาจจะต้องกินยาเพื่อให้ทำงานได้แต่สำหรับเด็กเล็กให้นอนพักผ่อนที่บ้านคือวิธีที่ดีที่สุด กุมารแพทย์หลายคนพูดว่า เราไม่ได้รักษาเด็ก แค่ช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยด้วยการสนับสนุนพลังของเด็กให้เขาพยายามหายจากโรคด้วยตัวของเขาเอง (พลังรักษาตัวเองโดยธรรมชาติ) จึงอาจกล่าวได้ว่า พลังรักษาตัวเองโดยธรรมชาติต่อพลังจากยาคือ 9 ต่อ 1 นั่นเอง"
          นอกจากนี้ นายแพทย์ทะสึโอะ โยชิซากิยังเผยกับทีมงาน Life & Family ด้วยว่า ความเข้าใจที่ผิดพลาดของพ่อแม่เกี่ยวกับการรักษาอาการหวัดในเด็กนั้นยังคงปรากฏอยู่ในญี่ปุ่น ด้วยความเชื่อว่าการรักษาโดยใช้ยานั้นยังคงมีอิทธิพลต่อพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก แต่ในฐานะแพทย์แล้ว เขาเชื่อว่าจำนวนของพ่อแม่ที่มีความเข้าใจและตระหนักถึงความจริงที่ว่า การรักษาโรคหวัดนั้นสามารถรักษาได้ด้วยพลังของตัวเองตามธรรมชาติก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นนิมิตรมายอันดี
          "อยากให้คุณแม่เข้าใจว่า แผนกเด็กเป็นที่ตรวจเด็กๆ ว่ามีอาการอะไรของโรคที่รุนแรงหรือไม่นะครับ นอกจากนี้การให้เด็กเล็กกินยา ก็มีผลเสียมากกว่าผลดีเสียอีก ที่จริงเด็กๆ หายได้ด้วยพลังของตัวเอง เชื่อในพลังของเด็กๆเถอะครับ"
          หันกลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าภาพของขวดยา 4 ขวดที่ปรากฏด้านบนของบทความอาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบของการเดินทางไปพบกุมารแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อรับการรักษาอาการหวัดในเด็กเล็กแต่จากความจริงอีกด้านซึ่งวงการแพทย์ในญี่ปุ่นยอมรับ และมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในพลังการฟื้นตัวตามธรรมชาติของเด็ก การค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับ "โรคหวัด" ให้มากขึ้นจึงอาจกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่ชาวไทยยุคนี้ก็เป็นได้
          หมายเหตุ : ขอขอบคุณสำนักพิมพ์รักลูกบุ๊กส์สำหรับการประสานงานกับสำนักพิมพ์อิจิมันเนนโด ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ Happy Advice และคุณหมอทะสึโอะ โยชิซากิ กุมารแพทย์ผู้แต่งหนังสือเล่มดังกล่าว
 


pageview  1205140    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved