HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์ [ วันที่ 12/09/2560 ]
เปิดนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพรักษา "ภาวะตัวเหลือง"

ภาวะตัวเหลืองเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด เกิดจากสารสีเหลืองชื่อ "บิลิรูบิน" ในเลือดสูงกว่าปกติ การมีระดับบิสิรูบินสูงมากๆ จะมีผลทำให้บิสิรูลินเข้าสู่สมอง ทำให้สมองพิการได้ ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะตัวเหลืองคือ "การส่องไฟ (Photo Therapy)" แต่ก็ยังพบว่า มีบางปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง คือ การส่องไฟไม่ทั่วทุกส่วนของร่างกายเด็ก
          ทั้งนี้ ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2560 มีการนำเสนอผลงานวิชาการในส่วนของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาภาวะตัวเหลืองด้วยการส่องไฟ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคือ "พลิกตะแคงตัวตามเวลา โอ้! นาฬิกาลดเหลือง" โดยโรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
          น.ส.ธิดารัตน์ พลพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เพื่อให้การรักษาภาวะตัวเหลืองด้วยการส่องไฟมีประสิทธิภาพ ต้องส่องไฟตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ยกว้นช่วงเวลากินนมแม่หรืออาบน้ำ แต่ปัญหาคือ มีการพบว่า ระหว่างที่เด็กอยู่ในช่วงของการส่องไฟ ไม่ได้รับการเปลี่ยนท่าในการส่องไฟ ส่วนใหญ่มักนอนท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น นอนหงายทั้งวัน หรือนอนตะแคงตัวด้านเดียวทั้งวัน ทำให้ประสิทธิภาพในการส่องไฟรักษาลดลง
          "การที่เด็กไม่ได้รับการส่องไฟทั่วทุกส่วนของร่างกาย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา คือ ในทารกบางรายพบว่า เหลืองรุนแรงค่าบิริรูบินมากกว่า 15 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ต้องส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปรักษาด้วยการส่องไฟแบบทั้งด้านบนและด้านล่างพร้อมกัน (On Double Photo) ในหน่วยดูแลทารกวิกฤต และต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน ญาติเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการอาการของบุตร" น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว
          การแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ทารกได้รับการพลิกตะแคงตัวในการส่องไฟ จึงเป็นที่มาของการสร้างนวัตกรรมบอกเวลาเพื่อให้เด็กได้รับการพลิกตะแคงตัว เพื่อให้ไฟส่องได้ครบทุกส่วนของร่างกาย
          น.ส.ธิดารัตน์ ระบุว่า นวัตกรรมดังกล่าวต้องการให้ทารกได้รับการพลิกตะแคงตัวในการส่องไฟทุก 2-3 ชั่วโมง การส่องไฟจึงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่เกิดอันตรายจากการรักษาโดยการส่องไฟ และเพื่อให้เกิดการส่งเสริมสายใยรักให้มารดามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาบุตร ตึกสูติกรรมจึงได้คิดค้นนวัตกรรม "พลิกตะแคงตัวตามเวลา โอ้! นาฬิกาลดเหลือง" ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเตือนให้เจ้าหน้าที่และมารดาพลิกตะแคงตัวบุตรในการรักษาโดยการส่องไฟ
          สำหรับการประดิษฐ์นาฬิกาลดเหลืองดังกล่าว ก็เป็นเหมือนนาฬิกาทั่วไปที่วงล้อด้านนอกมีตัวเลขบอกเวลา 12 ชั่วโมง ส่วนวงล้อด้านในจะมีท่านอนส่องไฟ 4 ท่าของทารก ประกอบด้วย ท่านอนหงาย ท่านอนคว่ำ ท่านอนตะแคงซ้าย และท่านอนตะแคงขวา ห่างกันทุก 3 ชั่วโมง เมื่อนาฬิกาวนมาถึงท่าไหนก็จะเป็นช่วงในการพลิกตะแคงตัวเด็กตามท่านั้น โดยจะมีการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และมารดา โดยใช้นาฬิกาพลิกตะแคงตัวในการประเมินผู้ป่วย การให้ข้อมูล และการพักให้นมบุตรด้วย จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษามากยิ่งขึ้น จากปัญหาการมอนิเตอร์ไม่สม่ำเสมอ" น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว
          สำหรับผลลัพธ์ของการใช้นวัตกรรมดังกล่าวนี้ น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวว่า หลังจากการใช้นวัตกรรมดังกล่าวในการบอกเวลาพลิกตะแคงตัวทารก พบว่า เกิดประสิทธิภาพในการรักษา มีความสะดวกในการใช้งาน ประหยัดทรัพยากรและสร้างความพึงพอใจแก่มารดาและเจ้าหน้าที่ และช่วยลดปัญหามารดาและญาติวิตกกังวลในการดูแลบุตรส่องไฟและมารดาไม่กล้าพลิกตะแคงตัวบุตรมากขึ้น
          ทั้งนี้ การส่องไฟเพื่อรักษาทารกภาวะตัวเหลืองนั้น ประสิทธิภาพของการส่องไฟขึ้นกับพลังงานแสงสีฟ้า (Blue Light) ซึ่งการกั้นขอบด้านข้างเครื่องส่องไฟด้วยอะลูมินัมฟอยล์ เป็นวิธีการที่ได้รับการศึกษาแล้วว่า สามารถเพิ่มพลังงานแสงสีฟ้าเพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองที่ดีที่สุด แต่ก็มีผลเสียอยู่ประการหนึ่งในการใช้วิธีดังกล่าวคือ แสงสีฟ้าเกิดการสะท้อนออกมาภายนอกมากขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกมึนงง ไม่สบายตา และคลื่นไส้ได้
          ทางด้าน รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย จึงคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาดังกล่าว และนำเสนอเป็นผลงานวิชาการภายในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขเช่นกันในชื่อ "ประสิทธิผลของการกั้นแสงรบกวนจากเครื่อง Phototherapy ด้วยนวัตกรรมม่านบังแสง"
          นางกนกฉัตร ไชยมงคล พยาบาลวิชาชีพ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเพื่อศึกษาว่า การใช้ม่านบังแสงระหว่างการส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองของทารกนั้น จะสามารถลดปัญหามึนงง ไม่สบายตาของพยาบาลลงได้หรือไม่ และกระทบต่อประสิทธิภาพของการส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองของทารกหรือไม่
          โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบอาการมึนงง ไม่สบายตา คลื่นไส้และความพึงพอใจของพยาบาลที่ดูแลทารกที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องส่องไฟ และเปรียบเทียบอุณหภูมิของทารกที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องส่องไฟ ระหว่างใช้และไม่ใช้ม่านบังแสง แบ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพจำนวน 17 ราย และทารกจำนวน 66 ราย ที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ระหว่าง เม.ย. - พ.ค. 2560
          นางกนกฉัตร ระบุว่า การศึกษาได้แบ่งทารกออกเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ส่องไฟโดยไม่ใช่ม่านบังแสงจำนวน 36 ราย เก็บข้อมูลช่วง มี.ค. 2560 และทารกที่ส่องไฟโดยใช้นวัตกรรมม่านบังแสง เก็บข้อมูลช่วง เม.ย. 2560 ผลปรากฏว่า การใช้นวัตกรรมม่านบังแสง ไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิของทารก คือ อุณหภูมิร่างกายของทารกทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน
          นางกนกฉัตร กล่าวอีกว่า ส่วนการเปรียบเทียบอาการและความพึงพอใจของพยาบาลนั้น พบว่า กลุ่มที่ใช้นวัตกรรมม่านบังแสง มีอาการไม่สบายตาลดลงจากร้อยละ 82.4 ลดเหลือร้อยละ 23.6 และมีความพึงพอใจต่อนวัตกรรมดังกล่าวระดับมากร้อยละ 70.59 และมากที่สุดร้อยละ 29.41
          "เรียกได้ว่าการใช้นวัตกรรมม่านบังแสง ดังกล่าว ส่งผลดีต่อพยาบาลในการช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์จากการรับแสงสีฟ้ามากเกินไป ขณะเดียวกันการใช้นวัตกรรมดังกล่าวก็ไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิ ของทารกและประสิทธิภาพในการรักษา จึงถือเป็นทางเลือกในการนำมาใช้งานหรือปฏิบัติ" นางกนกฉัตร กล่าว
          สำหรับการรักษาทารกภาวะตัวเหลืองด้วยวิธีการส่องไฟแล้ว ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นอีก คือ การถ่ายเปลี่ยนเลือด จะทำในกรณีที่ระดับบิลิรูบินในเลือดสูงมาก หรือทารกเริ่มแสดงอาการทางสมองแล้ว เพื่อลดระดับบิลิรูบินในเลือดลงอย่างรวดเร็ว และการรักษาโดยการแก้ไขสาเหตุของภาวะตัวเหลือง เช่น ภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับนมแม่ ก็จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
          หรือเกิดจากภาวะท่อน้ำตีบ ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือหากเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาประคับประคองร่วมด้วย และหากเกิดจากภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด ก็ต้องรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน
          ส่วนการดูแลลูกที่มีภาวะตัวเหลืองนั้น รศ.พญ.โสภรพรรณ เงินฉ่ำ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้คำแนะนำไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจดูว่า ลูกตัวเหลืองหรือไม่อย่างง่ายๆ คือ ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดที่ผิวหนังพร้อมกับแยกออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากหลอดเลือดฝอย บริเวณที่จะตรวจจะได้เห็นสีผิวที่แท้จริง
          และควรตรวจหลายๆ ที่ เช่น หน้าผาก หน้าอก แขน และ ขา ควรตรวจในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และหากพบว่าลูกมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบพามาพบแพทย์ 1. ลูกตัวเหลืองมากหรือเพิ่มขึ้นเร็ว (ถ้าไม่แน่ใจควรพามาพบแพทย์ เพราะการตรวจดูตัวเหลืองด้วยตาเปล่าอาจผิดพลาดได้) 2. สีอุจจาระซีดลง หรือปัสสาวะสีเหลืองเข้มมากหรือเป็นสีน้ำปลา 3. มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด เกร็ง หรือชัก.


pageview  1204972    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved