HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
เนชั่นสุดสัปดาห์ [ วันที่ 22/08/2556 ]
ดูแลข้อกระดูกต้นคอ

 กระดูกสันหลัง ยังแบ่งเป็น ส่วนคอ ส่วนหน้าอก ส่วนเอว ในการใช้ชีวิตประจำวันจะเห็นได้ว่า ส่วนไหนบาดเจ็บง่ายที่สุด ทั้งที่นอน นั่ง เดินเฉยๆ ไม่คาดคิดว่าจะบาดเจ็บ คงหนีไม่พ้น ต้นคอ บ่าไหล่ เอวและเข่า     วันนี้มาดูว่าจะถนอมและดูแลต้นคอของเราให้ดีได้อย่างไร โรคที่เกิดขึ้นกับต้นคอพบมากที่สุดคงเป็น.
          คอตกหมอน อยู่ๆ ตื่นเช้าขึ้นมา ปวดต้นคอมาก คอหันไม่ได้ ก้มเงยไม่สะดวก เกิดขึ้นได้อย่างไร
          - เกิดจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ ทำไมนอนเฉยๆ กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้อย่างไร
          ท่านอน จากที่นอนไม่เหมาะ เช่น เตียงผ้าใบ นอนหลับแล้วทำให้คออยู่ในท่าคุดคู้ ต้นคออยู่ในท่าที่ผิดสรีระนานทั้งคืน
          หมอนสูงหรือต่ำเกินไป แข็งหรือนิ่มเกินไป ล้วนดึงกล้ามเนื้อให้ตึงเกร็งได้ กระดูกสันหลังส่วนต้นคอ จะแอ่นไปข้างหน้าถ้าหมอนสูงเกินไป หนุนแล้วหน้าอยู่ในท่าก้มหน้าตลอดทั้งคืน กระดูกต้นคอโก่งไปข้างหลัง กล้ามเนื้อต้นคอจึงอยู่ในภาวะตึงเกร็งทั้งคืน
          ถ้าหมอนเตี้ยเกินไป หนุนแล้วหน้าแหงนทั้งคืน ข้อสันหลังคอแอ่นมากเกินไป กล้ามเนื้อบางมัดอยู่ในภาวะตึงเกร็งเช่นเดียวกัน    หมอนแข็งเกินไป หนุนแล้วหนังศีรษะจะชา เลือดลมเดินไม่ดี ส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อต้นคอได้ด้วย
          หมอนนิ่มเกินไปเท่ากับหมอนเตี้ยเช่นเดียวกัน     แล้วหมอนสูงแค่ไหนจึงจะพอดี สำหรับสตรี ควรสูงประมาณ 8-10 ซม. สำหรับผู้ชาย 10-15 ซม. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละคน ปัจจุบันมีหมอนเพื่อสุขภาพออกมาจำหน่ายกันมาก แต่ควรเลือกหมอนที่สูงเท่ากับความกว้างของคอถึงไหล่ เพราะเวลานอนตะแคงจะได้ไม่รู้สึกว่าไหล่ถูกทับ และให้รู้สึกว่าซอกคอมีอะไรหนุนรับไว้ กล้ามเนื้อจะได้ไม่ต้องหดเกร็งตลอด
          - ความหนาวเย็น ไม่ว่าจะมาจากอากาศหนาวเย็น พัดลม แอร์ ความหนาวเย็นทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริว ตื่นนอนเช้าขึ้นมาจึงปวดต้นคอมาก จนหันไม่ได้ ดังนั้น เวลานอนไม่ควรปล่อยให้คอถูกความหนาวเย็น
          เมื่อคอตกหมอน ส่วนมากมักไปหาหมอนวด หรือไปฝังเข็ม หรือกินยาแก้ปวด แต่ก่อนจะไปรับการรักษา ลองกดจุดช่วยตัวเองก่อน
          จุดที่ 1 อยู่ข้างคอติดช่วงบ่า ลากเส้นจากหน้าอกตัดกับเส้นลากมาจากต้นคอ กดแล้วจะพบจุดเจ็บที่สุด เกร็งที่สุด กดไม่ต้องกลัวเจ็บ พร้อมกับหันคอไป-มา กล้ามเนื้อจะค่อยๆ คลาย
          จุดที่ 2 อยู่ตรงข้ามกับจุดหลาวกง กำมือหลวมๆ ตรงที่นิ้วกลางจรดลง ซอกระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วก้อย ตรงบุ๋มกลางฝ่ามือพอดี คือ จุดหลาวกง ตรงข้ามกับจุดหลาวกง ตรงหลังมือคือ จุดคอตกหมอน กดจุดนี้พร้อมกับหันคอไป-มา อาการปวดจะทุเลาลง
          จุดที่ 3 เฟิงฉือ อยู่ตรงรอยบุ๋ม 2 ข้างที่ท้ายทอย  หรือใช้วิธี ครอบแก้ว กวาซาได้  การปวดต้นคอจากคอตกหมอน ไม่ควรให้ใครหมุนคอเด็ดขาด เพราะการเจ็บเช่นนี้ เกิดจากกล้ามเนื้อตึงเกร็ง เป็นตะคริว ไม่ใช่เกิดจากกระดูกเคลื่อนขยับ
          หรือใช้น้ำขิงดื่ม หรือผ้าขนหนูชุบน้ำขิงประคบต้นคอ ก็ได้ผลดีเช่นกัน  หากอาการคอตกหมอนเกิดขึ้นบ่อยๆ ในผู้สูงอายุ ต้องรับรู้ไว้ว่าสัญญาณเตือนของกระดูกต้นคอเสื่อมมาแล้ว
          'คลินิกไพรเวช' เลขที่ 113/61-62 บ้านบัวทอง ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
          สนใจปรึกษาปัญหาสุขภาพ ติดต่อ 'หมอไพร' ได้ที่โทร.0-2594-5832
          หรือ 08-3001-5832 โทรสาร 0-2986-5309 อีเมล praivach@hotmail.com เวบไซต์ www.praivechs.com


pageview  1205884    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved