HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 15/02/2561 ]
ความเครียด สาเหตุของโรคและความชรา

 ความเครียดเป็นศัตรูตัวร้ายของมนุษย์เรา เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ แถมยังไปเร่งปฏิกิริยาของร่างกาย ทำให้เรา แก่ชราเร็วขึ้นอีกด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้เห็นทีจะต้องไปทำความรู้จักและหาวิธีรับมือกับความเครียดซะแล้ว จะได้อยู่ดีมีสุข อายุยืน และปลอดจากโรคภัยไงล่ะ ครั้งนี้เรานำความรู้ดีๆ จาก "หนังสือ 121 วิธี สุขภาพดี ชีวีเกินร้อย" มาให้ผู้อ่านได้อัพเดทกัน
          หลายคนคงพอทราบกันมาบ้างแล้วว่า ความเครียดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ฉะนั้นผู้ที่ไม่สามารถ ผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน ก็อาจทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ง่าย ที่พบได้บ่อยๆ ก็เช่น อาการอ่อนล้า ปวดศีรษะ และรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
          การตอบสนองทางอารมณ์ต่อภาวะตึงเครียดนี้ จะกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ซึ่งถ้าเกิดอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะไปเร่งกระบวนการแก่ชรา ยับยั้งภูมิคุ้มกัน ชะลอการสังเคราะห์โปรตีน ซึ่งจำเป็นต่อการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ นำไปสู่การสูญเสียเซลล์ประสาท เป็นอันตรายต่อสมอง กระดูกเสื่อม สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ไขมันที่หน้าท้องเพิ่มขึ้น มีอาการทางจิต แก่ก่อนวัย และเสียชีวิตได้
          นอกจากนี้ การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากกว่าปกติในระยะยาว อันเนื่องมาจากภาวะตึงเครียดเรื้อรังนั้น ยังนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง และน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งส่ง ผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย
          วิธีหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่นำไปสู่ภาวะเครียด
          จดรายการกิจกรรมประจำวันที่ต้องทำ โดยจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง และทำให้เสร็จสมบูรณ์เท่าที่สามารถทำได้ แต่อย่าหงุดหงิด ถ้าไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทั้งหมด
          เข้าร่วมกิจกรรมสนุกๆ ยามว่าง เพื่อช่วยลดภาวะตึงเครียดออกไปจากอารมณ์
          ถ้ารู้สึกลำบากใจกับความขัดแย้งในที่ทำงานหรือในครอบครัว ให้รีบหาทางแก้ไข อย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นปัญหาเรื้อรัง
          สำรวจความเครียด
          อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอลถูกผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไตในช่วงที่อยู่ในภาวะตึงเครียด แต่เราสามารถลดการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ด้วยการสร้างความสมดุลในการทำงานของต่อมหมวกไต เช่น กระตุ้นต่อมหมวกไตให้ผลิตฮอร์โมน "ดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรน" (Dehydroepiandrosterone) หรือ DHEA ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดดีที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้มากขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ คือ
          ออกไปรับแสงแดดซะบ้าง การไม่ได้รับแสงแดดเลยอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล และอาจนำไปสู่ภาวะเสียสมดุลในการทำงานของต่อมหมวกไต ในแต่ละวันให้คุณออกไปรับแสงแดดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ลืมทาครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวด้วย
          เลือกกินอาหารไม่ขัดสี ลดหรืองดการบริโภคน้ำตาล เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักขึ้น
          เสริมการทำงานของต่อมหมวกไต โดยบริโภคอาหารเสริมที่มี DHEA หรือโสมไซบีเรีย ซึ่งมีสารประกอบที่ร่างกายใช้ในการผลิตเพรกเนโนโลน หรือสารตั้งต้นของ DHEA แต่ควรปรึกษาแพทย์อายุรวัฒน์ถึงปริมาณอาหารเสริมที่ เหมาะสมกับตัวเอง
          หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อภูมิแพ้ โดยขอคำแนะนำจากแพทย์อายุรวัฒน์ ว่าอาหารชนิดใดที่กระตุ้นความเครียด และเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมอย่างหลากหลาย เพื่อให้ส่งผลต่อการทำงานของต่อมหมวกไตน้อยที่สุด
          คลายเครียดง่ายๆ อย่างรวดเร็ว
          เราเชื่อว่าทุกคนมีวิธีการหลากหลายที่ช่วยลดระดับความเครียดให้กับตัวเอง แต่วิธีการต่อไปนี้จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้ดีและรวดเร็วทันใจ
          หลีกเลี่ยงความคิดในแง่ลบ เพราะความคิดและความรู้สึกในด้านร้ายสามารถติดต่อถึงกันได้ ดังนั้นเราควร หลีกเลี่ยงคนที่พูดและมีพฤติกรรมในด้านลบ คบเพื่อนที่มองโลกในแง่ดี และเป็นกำลังใจให้แก่กัน
          มอบรางวัลให้กับตัวเองด้วยการทำสมาธิและทบทวนคุณค่าภายใน โดยหาช่วงเวลาเงียบสงบในแต่ละวันทบทวนถึงความสงบภายใน รวมทั้งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจเราเอง
          มีความสุขกับการหายใจเข้า-ออกลึกๆ ซึ่งจะทำให้จิตใจและร่างกายผ่อนคลาย โดยให้หายใจเข้าลึกๆ และหายใจออกช้าๆ ติดต่อกันนาน 10 นาที 3 ครั้งต่อวัน รับรองว่าต้องรู้สึกผ่อนคลายแน่นอน


pageview  1205083    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved