HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 08/12/2560 ]
เปิดแผนดูแลผู้สูงวัย รับมือสังคมเปลี่ยน

 ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนประชากร ผู้สูงอายุปี 2560 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าไปมีบทบาทเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการ โดยแนวทางสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตต้องอาศัยความร่วมมือกับครอบครัวและชุมชน
          ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของผู้สูงอายุในปี 2560 มีสัดส่วน 17.13% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2583 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัยกลางและวัยปลายถึง 56.3% ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่ในภาวะพึ่งพิงและต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ขณะที่ศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุกลับลดลงจากขนาดของครอบครัวที่เล็กลง ทำให้ความต้องการในการบริการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวเพิ่มขึ้น
          สำหรับแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ ในอนาคตจะใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐานการดูแล โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองให้นานที่สุด และให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และมีการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เช่น การทำบันทึกความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
          ทั้งนี้ การดำเนินการของ 4 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันให้การสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาตำบลนำร่อง โดยมีตำบลเข้าร่วมกระบวนการและผ่านเกณฑ์ 3,013 แห่ง การผลิต ผู้จัดการดูแล (แคร์แมเนเจอร์) 4,577 คน และผู้ดูแล (แคร์ กีฟเวอร์) 1.83 หมื่นคน การจัดทำแผนดูแลให้ผู้สูงอายุ เฉพาะราย (แคร์ แพลน) 5.38 หมื่นคน ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแล 1.06 แสนคน การดำเนินโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) มีประมาณ 5 แสนคน และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 878 แห่ง
          ด้านรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของประเทศไทย จะแบ่งเป็น 1.การดูแลนอกสถาบัน เป็นการสนับสนุนการดูแลที่บ้านและชุมชน มีการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทั้งบริการการแพทย์และบริการสังคม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุด้านอาชีพ รายได้ กิจกรรมสังคมและสภาพแวดล้อม เช่น เบี้ยยังชีพ ส่งเสริมอาชีพ 2.การดูแลในสถาบันหรือสถานบริการ ได้แก่ บ้านพักสำหรับ ผู้สูงอายุ สถานบริบาล โรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลระยะยาว และสถานดูแล ผู้ป่วยระยะท้าย
          อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการและบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ เช่น 1.การสนับสนุนดูแลในชุมชน เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างความร่วมมือทุกระดับ สนับสนุนทีมหมอครอบครัวและเพิ่มกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อขยายการดูแลแบบรายกรณี สนับสนุนการจัดชุดบริการป้องกันดูแลผู้สูงอายุ และการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลและติดตามการรักษาระยะไกล ลดการเข้าสู่สถานบริบาลก่อนความจำเป็น
          การกำหนดมาตรฐานการดูแลตามระดับการดูแล รวมทั้งออกกฎระเบียบเพื่อขึ้นทะเบียนและกำกับดูแลให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานของสถานบริการภาคเอกชน การสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะกลาง โดยใช้โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิเป็นฐาน เพื่อช่วยรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดสังคมและติดบ้าน
          "ปัจจุบันมีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้านที่เกี่ยวกับนวัตกรรมการดูแล ผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพึ่งพาตนเองได้ และอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า ภาครัฐและเอกชนจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วย" ปรเมธี กล่าว


pageview  1205013    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved