HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 26/04/2555 ]
เด็กไทยก็เก่งไม่แพ้เด็กจากชาติที่เจริญแล้ว

 พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์
อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
          เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนเผอิญได้มีโอกาสเดินเข้าไปชมนิทรรศการนิทรรศการหนึ่ง ที่มีชื่อว่า"เปิดโลกวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ครั้งที่ 2"ถึงแม้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ ที่จัดอยู่ที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ แต่ก็ได้ทำให้เห็นอะไรๆที่ทำให้ผู้เขียนทั้งดีใจและเหนื่อยใจ
          ขอพูดถึงเรื่องของความดีใจก่อนงานนิทรรศการนี้จัดโดยภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชานี้ตั้งมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งจัดนิทรรศการนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาคิดค้นและวิจัยงานขึ้นแล้วนำมาแสดงสำหรับการจบการศึกษา ซึ่งปรากฏว่าผลงานทางวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่นักศึกษาเหล่านี้คิดค้น และทำวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นล้วนเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ทั้งสิ้น โดยบางผลงานยังเป็นขั้นการทดลองในห้องทดลองบางผลงานก็ทำเป็นหุ่นจำลอง (Prototype)และบางผลงานก็สำเร็จออกมาแล้ว แต่ที่สำคัญคือ แต่ละผลงานน่าสนใจและน่าทึ่งในความสามารถของเด็กไทยมาก
          ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ยืดชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดภาวะช็อก เพราะเกิดจากการที่หัวใจบีบตัวไม่เต็มที่ (ภาวะCardiogenic Shock) ซึ่งการรักษาทำได้ทั้งการให้ยา หรือการเปลี่ยนหัวใจดวงใหม่จากผู้บริจาคอย่างไรก็ตาม หากจะเปลี่ยนหัวใจอาจต้องรอหัวใจที่จะมีผู้บริจาค ก็จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า "The Centrifugal Blood Pump" ซึ่งเครื่องนี้จะทำหน้าที่ในการเพิ่มแรงดันเลือดแทนหัวใจ เพื่อให้เลือดสามารถส่งไปเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย แต่เครื่องชนิดนี้ผลิตโดยประเทศพัฒนาแล้ว มีค่าใช้จ่ายสูงมาก สิ่งที่เด็กไทยคิดคือการออกแบบชิ้นงานที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งถ้าสำเร็จค่าใช้จ่ายก็จะต่ำลงกว่าครึ่ง ทำให้คนไทยจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงการรักษาชนิดนี้ได้
          ตัวอย่างที่ขอยกเป็นตัวอย่างที่ 2 คือ ห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ และวิศวกรรมระดับนาโนเพื่อพัฒนาระบบส่งยาและเทคนิคการสร้างภาพทางการแพทย์ Biopolymers and Nanoengineering for Drug Delivery and Molecular Imaging Laboratory (BioNEDD Lab) บอกมาชื่อยาวเหยียดนายมีนายมาตาสีตาสารวมทั้งผู้เขียนฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ แต่เอาเป็นว่าภาษาง่ายๆ คือ เป็นระบบส่งยาที่สามารถส่งยารักษาโรคมะเร็งสู่ก้อนมะเร็งได้ตรงจุดมีประสิทธิภาพ โดยระบบส่งยาสามารถถูกพัฒนาในระดับมิลลิมิเตอร์ นาโน และระดับโมเลกุล ทำให้ยาซึ่งเป็นสารเคมีที่ให้ไปไม่ไปทำลายเนื้อเยื่อหรือเซลล์ดีส่วนอื่นยิ่งถ้าเป็นก้อนเนื้อมะเร็งในสมอง เมื่อผ่าตัดออกแล้วการรักษาด้วยเคมีก็ยิ่งต้องทำให้ตรงจุดมากๆ นอกจากนี้อนุภาคนี้ยังมีสารประเภทเหล็กออกไซด์ที่ทำให้อนุภาคเหล่านี้สามารถถูกติดตามได้ โดยใช้ระบบ MRI ถามว่าประเทศอื่นๆเขามีการทำกันไหม เพราะเรื่องอย่างนี้ก็อาจอ่านพบได้ในหลายๆ สื่อโดยเฉพาะนิตยสารทางการแพทย์คำตอบก็คือมี แต่ไม่เหมือนกัน และมีข้อบกพร่องเช่น เป็นแผ่นแปะ ดังนั้นสิ่งที่เด็กไทยคิดจึงเป็นการพัฒนาต่อยอดและปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างของ Collaborative Research ที่ทำร่วมกันหลายฝ่าย ตั้งแต่ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี หน่วยอณูชีววิทยาการแพทย์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กลุ่มสัตว์ทดลองสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกว่าเป็นการร่วมมือกันหลายฝ่ายกว่าจะออกมาได้ขนาดนี้ แต่ก็เป็นผลงานที่น่าทึ่งมากถึงแม้ขณะนี้จะอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์และอาจต้องรออีกหลายปี ซึ่งรวมถึงให้มีการทดลองในคนดูก่อนด้วย กว่าจะมีการใช้ได้จริง
          นี่ก็เป็นเพียง 2 ตัวอย่าง ที่ผู้เขียนยกมาให้ดูความสามารถของเด็กไทยจากประมาณ 10 ผลงานที่ตั้งแสดง คราวนี้ก็ขอมาแตะเรื่องความเหนื่อยใจของผู้เขียนหน่อยสิ่งที่ทำให้เหนื่อยใจก็คือ เมื่อดีอกดีใจที่เห็นเด็กของเราคิดกันได้ขนาดนี้ ก็เลยรีบถามว่าได้ไปจดสิทธิบัตรกันหรือเปล่า ยิ่งมาแสดงนิทรรศการกันอย่างนี้ ถ้ายังก็ให้รีบไปยื่นเสียปรากฏว่าร้อยทั้งร้อยทำท่าอ้ำอึ้งและตอบว่าไม่ได้ยื่นจดและไม่มีแผนจะยื่นจด หรือบางรายดีหน่อยก็โยนให้อาจารย์ว่าไม่ทราบอาจารย์จะทำอย่างไร ฟังแล้วก็เลยเหนื่อยใจ ว่าจะถามต่อว่ามีการค้นหา (Search) ก่อนการจะวิจัยหรือไม่ เพราะจะเป็นประโยชน์ในแง่ของความใหม่ และการนำความรู้ที่เขามีอยู่แล้วไปพัฒนาต่อยอดจะได้เร็วขึ้น ไม่ต้องงมเข็มในมหาสมุทร ก็เลยเลิกถามกันไปเลย
          ถ้าเด็กของเรามีความสามารถถึงขนาดนี้แต่ไม่สนใจรับรู้ระบบหรือโลกภายนอกเลย จะปกป้องผลงานของตัวเองอย่างไร หรือทำไปเพื่อให้จบๆ โดยทำตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาไม่แนะนำให้ผลงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง หรือที่จริงมหาวิทยาลัยจำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะมีที่เขาเรียก "TLO" (Technology Licensing Office) กันทั้งนั้น และหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นหน่วยงานที่ทั้งจดสิทธิบัตร ฯลฯ และทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ยิ่งผลงานบางอย่างยังเป็นแค่การทดลองในห้องแล็บ หนทางก็อีกยาวไกลนักกว่าจะคืบคลานไปถึงตลาดเงินทุนก็ยังต้องใช้อีกมหาศาล ซึ่งถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องอนุญาตให้คนอื่นที่เขามีเงินทุนใช้สิทธิหรือเข้ามาร่วมลงทุน ไม่ใช่จบอยู่บนหิ้ง เมื่อได้รับปริญญาแล้ว แต่จะ License หรือร่วมทุนได้ก็ต้องมีการจดสิทธิบัตรเสียก่อน การได้สิทธิบัตรมาจึงเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จขั้นต่อๆ ไป แต่เด็กของเราดูจะไม่รับรู้เอาเสียเลย
          หรือเด็กเหล่านี้จบแล้วก็ก้าวไปทำงานอย่างอื่นไม่ใช่งานวิจัยอย่างที่ควรจะเป็นเหตุนี้หรือเปล่าที่การประเมินของ IMD จึงพบว่าไทยติดอยู่ในอันดับหนึ่งในการผลิตเด็กที่จบมาทางวิทยาศาสตร์ แต่การวิจัยของไทยติดอยู่อันดับเกือบท้ายสุด และงบประมาณการวิจัยของไทยก็อยู่ที่ 0.1% ของจีดีพีเท่านั้น คิดแล้วเหนื่อยใจm
         
          เมื่อได้รับปริญญาแล้วแต่จะ License หรือร่วมทุน
          ได้ก็ต้องมีการจดสิทธิบัตรเสียก่อน การได้สิทธิบัตรมาจึง
          เป็นเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะ
          ก้าวไปสู่ความสำเร็จขั้นต่อๆ ไป แต่เด็กของเรา
          ดูจะไม่รับรู้เอาเสียเลย


pageview  1205104    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved