HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 02/05/2560 ]
กฎหมายบุหรี่

  ประเทศไทยมีการซื้อขายบุหรี่ สามารถหาซื้อกันได้ง่ายอย่าง ถูกกฎหมายทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่ต่างประเทศในส่วนของยอดการขายบุหรี่ซอง เฉลี่ยระหว่างปี 2534-2536 ก่อนการใช้นโยบายขึ้นภาษีและ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 เท่ากับ 2,020 ล้านซอง/ปี แต่หลังจากมีมาตรการควบคุมยาสูบต่างๆ ระหว่างปี 2537-2558 เฉลี่ยยอดจำหน่ายบุหรี่ซองต่อปีเท่ากับ 2,015 ล้านซอง ทั้งที่จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้น เฉพาะโรงงานยาสูบของไทยในแต่ละปีขายบุหรี่ได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และยิ่งปัจจุบันรัฐปรับเพิ่มอัตราภาษีบุหรี่ ทำให้บุหรี่นอกหรือผิดกฎหมายน้อยลง และโรงงานยาสูบขายบุหรี่ ได้เพิ่มมากขึ้น
          สำหรับการจัดเก็บอัตราภาษีในปี 2558 เก็บภาษีได้ 62,733 ล้านบาท มากกว่าเดิม 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2534 ก่อน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ใช้บังคับเก็บภาษีได้ 15,898 ล้านบาท นั่นเพราะนโยบายการปรับขึ้นราคาภาษีบุหรี่ แม้รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราภาษี แต่ในส่วนของกฎหมายที่ออกมาควบคุมการสูบการขายบุหรี่ หรือการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ยังมีมาต่อเนื่อง
          เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... หลักการและเหตุผลในการออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... เพราะกฎหมายปัจจุบัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ใช้มานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การคุ้มครองประชาชนไม่สัมฤทธิผล และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
          พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ได้กำหนดห้ามผู้ใดขาย หรือให้ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี จากเดิม 18 ปี ฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายสงสัยเรื่องอายุให้เรียกดู บัตรประชาชนได้ นอกจากนี้ยังห้ามการใช้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายบุหรี่ด้วย
          สำหรับการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ ห้ามผลิตหรือนำเข้ายาสูบที่มี บรรจุต่ำกว่า 20 มวน/ซองมาจำหน่าย ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และห้ามแบ่งขายบุหรี่ต่ำกว่า 20 มวน/ซอง ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท รวมทั้งห้ามขายผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย
          นอกจากการห้ามขายผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต ยังห้ามโฆษณารูปแบบ ต่างๆ โดยการประชาสัมพันธ์ แต่ยังมีการขายในรูปแบบอื่นของบริษัทบุหรี่ต่างประเทศโดยเลี่ยงไปขายสินค้าชนิดอื่น แต่ยังคงมีเครื่องหมายการค้าอันเดียวลักษณะเดียวกับบุหรี่ เช่น Camel ที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเสื้อผ้า ทั้งที่ยังมีบุหรี่ Camel มีวางขายตามท้องตลาดเช่นกัน จะถือว่าเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามกฎหมายใหม่หรือไม่
          เคยมีคดีในต่างประเทศที่เข้าข่ายโฆษณาหรือให้ข้อมูลเท็จ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2552 บริษัท ฟิลิป มอริส ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาถูกศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ฐานหลอกลวงประชาชนชาวอเมริกันตลอด 50 ปี  ด้วยการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพและปฏิเสธว่า นิโคตินไม่ใช่สารเสพติดไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องว่า ไม่ได้เจาะจงขายบุหรี่ให้แก่เยาวชนและผลเสียทางสุขภาพจากการได้รับควันบุหรี่
          นอกจากนี้ ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว บริษัท ฟิลิป มอริส โดยตัวแทนในประเทศไทย ยังถูกอัยการสูงสุดดำเนินคดีฐานหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร โดยเจตนาฉ้อโกงค่าภาษีรัฐบาลมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2560 ศาลได้นัดตรวจ พยานหลักฐานคดีนี้
          อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ การห้ามแบ่งขายบุหรี่ต่ำกว่า 20 มวน/ซอง จะช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่คือ กลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนได้ไม่มากก็น้อย เพราะปัจจุบันบุหรี่ 1 ซองมี 20 มวน ราคาบุหรี่ในปัจจุบันซองละเกือบ 100 บาท เด็กในวัยเรียนหากคิดจะสูบบุหรี่ต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากค่าอาหารมาซื้อบุหรี่ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเด็กนักเรียนเหล่านี้มีเงินไม่มาก
          สำหรับคนสูบบุหรี่เป็นประจำ มีกฎหมายที่ออกมาควบคุมการสูบบุหรี่ ในที่สาธารณะคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 18 พ.ศ. 2550 กำหนดให้สถานบันเทิงประเภทผับ บาร์ ร้านอาหาร ตลาดทุกประเภททั้งตลาดสด ตลาดขายเสื้อผ้า ตลาดนัดเปิดท้ายขายของต่างๆ บังคับทั้งที่ติดแอร์และไม่ติดแอร์จะต้องเป็นเขตปลอดควันบุหรี่ 100% แต่สามารถจัดสถานที่สูบภายนอกที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกได้ต้องให้ห่างไกลผู้คน ไม่ส่งกลิ่นรบกวนผู้อื่น คนสูบบุหรี่ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท
          ด้านผลกระทบอันเกิดจาก พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ คือร้านขายของชำ ร้านโชห่วย และร้านค้าเล็กๆ ต่างทำให้ขาดรายได้และอาจเป็นช่องทางให้เกิดการแอบลักลอบแบ่งขาย เมื่อแบ่งขายแล้วราคาบุหรี่ต่อตัวจะสูงกว่าซื้อแบบซอง ปัญหาในส่วนนี้รัฐจะแก้ไขหรือป้องกันการลักลอบแบ่งขายอย่างไร เพราะเมื่อกฎหมายออกบังคับใช้ใหม่ๆ คนขายจะกลัวความผิดไม่กล้าขาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะหาช่องทางลักลอบขาย
          ความพยายามของรัฐบาลที่จะออกกฎหมายมาควบคุมบุหรี่เป็นเรื่องดี แต่อีกด้านรัฐบาลยังมีรายได้จากโรงงานยาสูบปีละ 7 หมื่นล้านบาท กับภาษีสรรพสามิตถือเป็นภาษีบาปที่ได้จากการจัดเก็บจากบุหรี่ รัฐควรจะนำไปใช้เกิดประโยชน์และแจกแจงให้ประชาชนทราบด้วย


pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved