HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 20/03/2555 ]
มองอนาคตหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยความห่วงใย

 นพ.วิชัย โชควิวัฒน
          กรรมการสุขภาพแห่งชาติ
          เป้าหมายของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์เป็นเรื่องง่ายๆตรงไปตรงมา คือ "อำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง" ส่วนวิธีการของกลุ่มนี้มีวิธีการหลักๆ คือ 1) การเข้าไปหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและโดยแอบแฝง 2) เข้าไปปกป้องผลประโยชน์และหาทางป้องกันเมื่อผลประโยชน์ถูกกระทบ และ 3) การเข้าไปครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ถ้าสามารถทำได้
          เนื่องจากงบประมาณก้อนใหญ่มากและระบบการบริหารที่อาจกระทบผลประโยชน์ของตัว กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จึงต้องการอำนาจควบคุม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทั้งโดยสุจริตและทุจริต และบ่อยครั้งที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
          กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้มิได้สนใจเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี "เม็ดเงิน" มากที่สุดเป็นหลักแสนล้านเท่านั้น แต่ได้เข้าไปแทรกแซงครอบงำหาผลประโยชน์จากอีกสองกองทุน คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและกองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง
          ในส่วนของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ แม้มิใช่ "กองทุน" แต่เพราะจ่ายจากงบกลางโดยไม่มีเพดานจำกัดและเป็นการจ่ายตามรายการการให้บริการ จึงเป็น "แหล่งเงินอันโอชะ" ของธุรกิจยาและธุรกิจโรงพยาบาล ทำให้เงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมาก
          วิธีการที่พวกนี้ใช้คือ การเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการและครอบครัว ให้แพทย์สามารถสั่งตรวจและรักษาจนแทบไม่มีขอบเขตจำกัด ได้แก่ การเพิ่มสิทธิในการไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน และเพิ่มวิธี "เบิกตรง" กับกรณีผู้ป่วยนอก เป็นต้น
          การเพิ่มสิทธิในการไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ด้วยข้ออ้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการและลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐในขณะที่ระบบการควบคุมการให้บริการอ่อนแอที่สุด ทั้งในส่วนของกองการประกอบโรคศิลปะและแพทยสภา ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่สมควรได้มาก
          กรณีผู้ป่วยนอก ซึ่งแต่เดิมข้าราชการจะต้องทดรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกคืนภายหลัง ทำให้ต้องระมัดระวังในการเบิกจ่าย เมื่อให้เบิกจ่ายตรงจึง "เปรมปรีดิ์" ทั้งข้าราชการและโรงพยาบาลและเปิดทางให้มีการเบิกเกินสมควรและเบิกเท็จจนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่นานมานี้โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะเข้ากระเป๋าธุรกิจยาข้ามชาติ
          เมื่อกระทรวงการคลังพยายามเข้าไปควบคุมการเบิกจ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่สมควร เช่น กรณียารักษาข้อเข่าเสื่อมโดยมีหลักฐานทางวิชาการมากมายเกือบร้อยรายการ สรุปว่ายาไม่ได้ประโยชน์แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะแพทยสภาออกโรงปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจยาและโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ ไม่สำเร็จเพราะกระทรวงการคลังอ่อนแอทั้งวิชาการและความมุ่งมั่นในการรักษาประโยชน์ของราชการและมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้พิจารณาก็เป็นข้าราชการอยู่ด้วย
          สำหรับประกันสังคม เนื่องจากโครงสร้างองค์กรอ่อนแอ ไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะยังเป็นส่วนราชการ และโครงสร้างทางวิชาการก็อ่อนแอมากไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะ"อภิบาล" ระบบมาตั้งแต่ต้น ต้อง "ยืมจมูกคนอื่นหายใจ" คือพึ่งพาคณะกรรมการการแพทย์
          เมื่อกลุ่มผลประโยชน์และผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปยึดครองคณะกรรมการการแพทย์กองทุนประกันสังคมจึงเป็น "แหล่งเงินอันโอชะ"แหล่งหนึ่งที่ถูกตักตวงผลประโยชน์ เช่น เมื่อ2 ปีก่อน มีการเพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวรวดเดียวราว25% โดยไม่ได้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ปีนี้ก็ใช้วิธีการจ่ายกรณีโรคที่ต้องการการรักษาซับซ้อน โดยดึงเงินจากกองทุนออกไปเข้ากระเป๋าโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนถึง 4,000 ล้านบาท โดยมีการออกข่าวเพื่อเป็นเหตุผลในการ"แก้ตัว" กับประชาชนว่า เงินจำนวนดังกล่าวใช้ไปเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ แต่เพิ่มเงินให้โรงพยาบาลรวมแล้วกว่า 20%
          การเพิ่มอัตราเหมาจ่ายของประกันสังคมเมื่อ2 ปีก่อน มีข่าวที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือว่ามีตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน "รวบรวม" เงินส่งให้นักการเมืองหลายสิบล้าน ปีนี้ก็มีข่าวทำนองนี้ แต่ลักษณะการเพิ่มคราวนี้แตกต่างจาก 2 ปีก่อน ทำให้การรวบรวมเงินยากกว่า และทำให้เรื่อง"ติดขัด"คาราคาซังอยู่นาน ทั้งสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจึงอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์เกือบเบ็ดเสร็จ
          กลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่กลุ่มผลประโยชน์ยึดไปได้นานแล้วคือ แพทยสภา คนเหล่านี้ใช้ "เครดิต"ดั้งเดิมของแพทยสภา ทั้งแสวงหาผลประโยชน์และปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างไร้หิริโอตตัปปะ
          ด้านหนึ่งคือ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินคดีต่างๆ ที่ประชาชนร้องเรียนต่อแพทยสภาจึงมีคดีมากมายที่ตัดสินไปแบบน้ำขุ่นๆ ด้านหนึ่งคือ การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ปกปิดทำลาย และปลอมแปลงหลักฐานเวชระเบียน ส่งคนเข้าไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ มุ่งปกป้องแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในกรณีมีการฟ้องร้องต่อศาล ทำให้ประชาชนยากที่จะชนะคดี ด้านหนึ่งคือ การเข้าไปเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
          นอกจากนั้นยังเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการร่างกฎหมายทุกขั้นตอน
          ปัจจุบัน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถสร้างความมั่งคั่งจนสามารถจ้างคนไว้ทำหน้าที่เป็นปากเสียง หรือเป็น "นักวิ่งเต้น" ได้แบบเต็มเวลาหรือเกือบเต็มเวลา ทำให้ปกป้องผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประชาชนจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา m


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved