HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 14/01/2557 ]
เป็นเล่นไปใครๆ ก็เสี่ยง! อัลไซเมอร์
 ยุคนี้เป็นสังคมของผู้สูงวัย เมื่อคนอายุยืนโรคภัยต่างๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ความชุกของโรคสมองเสื่อมมีจำนวนสูงอย่างชัดเจนมากเมื่อมีอายุมากกว่า65 ปี และจำนวนความชุกจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในทุกๆ ช่วงอายุ 5 ปีที่เพิ่มขึ้น ถึง
          แม้โรคสมองเสื่อมจะเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุแต่โดยรวมแล้วพบได้น้อยในผู้ที่อายุน้อยกว่า 65 ปี
          คนไทยสมองเสื่อมเพิ่ม
          สำหรับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดที่พบมากที่สุดกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ จากสถิติโลกพบได้ในผู้สูงอายุ60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 ปัจจุบันมีผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 33.9 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 เท่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ประเทศไทยขณะนี้มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งหมด 8.3 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ประมาณ 8.3 แสนคน และคาดการณ์ว่าเพิ่มความรุนแรงขึ้นเพราะเริ่มพบผู้ป่วยขยายมายังกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปีด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่นำไปสู่ความผิดปกติของหลอดเลือด ได้แก่โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไขมันสูง
          ลำดับการดำเนินของโรคจะเป็นการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทอย่างช้า แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีความแตกต่างระหว่างบุคคล คือ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีอาการแบบเดียวกันเสมอไป อาจมีอาการขึ้นๆ ลงๆ ได้ และการดำเนินโรคช้าเร็วต่างกันได้ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 3-20 ปีโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 8 ปี ขึ้นกับระยะเมื่อได้รับการวินิจฉัย และภาวะสุขภาพทางกายโดยรวมของผู้ป่วยด้วย
          อาการที่พบเป็นอาการหลงลืมที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากหลงลืมเรื่องใหม่ๆที่เพิ่งเกิดขึ้น ไปจนถึงไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมซ้ำๆนึกคำพูดหรือประโยคไม่ออก เรียกชื่อสิ่งของผิดสับสนเรื่องเวลา สถานที่ อาจมีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้าวิตกกังวล ระแวง เห็นภาพหลอน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจนมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวัน
          หากตรวจพบเร็วและรีบรักษาก็จะช่วยชะลอความเสื่อมได้โดยอาจใช้ยาช่วยชะลอ ที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น ควบคุมอาหาร ให้ระดับน้ำตาล ไขมันและความดันเป็นปกติ โดยเฉพาะรายที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองและการกระตุ้นสมองโดยใช้กิจกรรมบำบัด เช่น ฝึกความจำด้วยการเล่นเกมจับคู่
          ขี้ลืมธรรมดาหรือว่าสมองเสื่อม
          นพ.เหมริน พิพัฒน์ผจงอายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า สมองเสื่อมคือภาวะที่ผู้ป่วยมีการเสื่อมของการทำงานของสมองทั้งหมด ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ความรอบรู้ มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆ สมองเสื่อมไม่ใช่เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปเมื่อคนเราสูงอายุภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกิดในคนนั้นๆ คนสูงอายุทั่วไปอาจจะมีการลืมได้บ้าง แต่ว่าลืมแล้วก็จำได้ อาจจะนึกไม่ออกว่าเราเอาของไปวางไว้ที่ไหน แต่ก็รู้ว่าเราต้องไปวางไว้แน่ๆ จำได้ว่าเราถือมาแต่เอาไปวางไว้ที่ไหน แล้วเราก็หาดูว่าเราเอาไปวางไว้ที่ไหน
          แต่ผู้ป่วยสมองเสื่อมสิ่งเหล่านี้ผู้ป่วยจะจำไม่ได้เลยว่าหยิบของนี้มา หรือจำไม่ได้เลยว่ามีการทำกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่ารับประทานอาหารไปหรือยัง จำไม่ได้ว่าเพิ่งกินไปประเดี๋ยวนี้ การลืมใหญ่ๆ แบบนี้เป็นลักษณะของผู้ป่วยสมองเสื่อม
          นอกจากนั้น ผู้ป่วยจะมีการปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพร่วมด้วย คือ แต่ก่อนเคยมีบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นคนแต่งตัวสวยงาม ดูแลตัวเองอยู่เสมอ เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงทางสมอง ผู้ป่วยจะไม่สนใจตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง ให้ไปทำผมสระผมก็ไม่ไป บางรายไม่ยอมอาบน้ำอาจมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่โกรธเกรี้ยวก้าวร้าว รุนแรง หรือในทางกลับกันบางคนกลับยิ้มหรือหัวเราะตลอดเวลา ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องขำอย่างนี้เป็นลักษณะของสมองเสื่อม
          ส่วนคนที่ขี้ลืมเอาของไปวางแล้วจำไม่ได้ว่าไปวางที่ไหน จอดรถอย่างรวดเร็วลงรถเดินออกไปแล้วจำไม่ได้ว่าตัวเองล็อกรถหรือยัง ต้องเดินกลับมาดู การฝึกตัวอยู่เสมอจะทำให้การลืมลดลง
          เช็กโรคด้วยตนเอง
          มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยพัฒนาโปรแกรมการตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์เป็นผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย สามารถตรวจผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารประเภทสมาร์ทโฟน เช่น ไอแพด และโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ เพื่อให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นเช่น เบาหวานความดันโลหิตสูง มองเห็นชัดเจนและตรวจประเมินได้ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง ให้ประชาชนตรวจประเมินความเสี่ยงของผู้สูงอายุในบ้านว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์มูลนิธิอัลไซเมอร์ฯ www.alz.or.th และเว็บไซต์ทีเซลส์ที่ www.tcels.or.th
          แบบคัดกรองที่ใช้เป็นแบบทดสอบเบื้องต้นมีคำถาม 11 ข้อ เช่น ชอบถามคำถามเดิมซ้ำๆหรือไม่ หลงลืมบ่อยหรือไม่ ดูซึมลง เศร้าหมองหรือร้องไห้บ่อยกว่าเดิมหรือไม่ หงุดหงิดอารมณ์เสียบ่อยขึ้น ช่างสงสัย เริ่มได้เห็น ได้ยินเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริงหรือเริ่มมีปัญหาเรื่องทิศทางหรือไม่ หากผลการตรวจพบว่ามีอาการตั้งแต่ 4 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขอให้รีบรับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
          ดูแลด้วยความรักและเข้าใจ
          โชคดีที่ฟ้ายังมีทางเลือกให้โรคอัลไซเมอร์เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่แม้จะหลงลืม แต่ยังมีความสามารถที่โรคนี้ไม่สามารถทำลาย คือ ความสามารถในการรับรู้ และส่งต่ออารมณ์ความรู้สึกถึงความรักและห่วงใยที่มีระหว่างผู้ป่วยกับคนใกล้ชิดได้ ใครที่เคยได้ดูหนังเรื่องThe Notebook หนังรักโรแมนติกที่เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ที่ซาบซึ้งกินใจ แม้ผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าคนตรงหน้าเป็นใครแต่ก็สามารถรับรู้ถึงความรัก ความห่วงใยที่ส่งมาให้ได้ และผู้ป่วยเองก็สามารถส่งความรู้สึกกลับคืนไปได้ หรืออีกเรื่องที่สื่อได้ตรงใจไม่แพ้กันก็คือAway from Herที่หนังชี้ถึงผลกระทบของโรคต่อคนใกล้ชิดได้ดีที่สุด
          การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องโรคและอาการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นและการดูแลที่เป็นพิเศษ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงจากมลพิษ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง โรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ด้วยอาหารหลายชนิด เช่น ผักและผลไม้ที่มีวิตามินอี วิตามินซีซึ่งมีอยู่มากในผักและผลไม้จำพวกมะเขือเทศแครอต และผักโขม นอกจากนี้แล้วดีเอชเอซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีในไขมันจากปลาทะเล ก็ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของเซลล์สมองได้อีกด้วย
          วิธีป้องกันสมองเสื่อม
          ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการสมองเสื่อมในชีวิตประจำวัน
          1.งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมอง
          2.ระวังเรื่องการใช้ยาไม่ควรรับประทานยาสุ่มสี่สุ่มห้า
          3.ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนศีรษะ
          4.ผู้สูงอายุที่เดินลำบากควรมีคนดูแล
          5.เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และไม่ควรลืมเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง
          6.ตรวจเช็กความดันเลือดสม่ำเสมอ หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมได้
          7.ควรออกกำลังกายเป็นประจำ
          8.ควรหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์
          9.เมื่อสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการหลงๆลืมๆ ผิดปกติ หรือมีอาการบ่งชี้อื่นๆรีบไปพบแพทย์ผู้สูงอายุทันที
          การรักษาโรคอัลไซเมอร์
          การรักษามีความสำคัญ อัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยต้องการการดูแลที่ถูกต้องอย่างใกล้ชิดเริ่มตั้งแต่การให้เวลาผู้ป่วยในการตอบคำถามหรือการตอบสนองกับสิ่งรอบข้างเนื่องจากผู้ป่วยจะเชื่องช้าลงจากการทำงานของสมองที่เสียไป ควรจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวล โดยบอกขั้นตอนทีละลำดับช้าๆ จะทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้นดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดดูแลปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วยที่ถดถอยลง
          แพท-ณปภา ตันตระกูลนางเอกที่ดูแลคุณแม่ที่ป่วยมากว่า 5 ปี ทั้งๆ ที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี เธอเล่าว่า รู้ว่าแม่เริ่มป่วยหลังจากเคยถามเรื่องเงินๆทองๆ ว่าได้เก็บเงินที่ได้ไว้หรือยัง ซึ่งแม่ก็นิ่งไปแล้วตอบว่า "นั่นสิ"
          "ก็เริ่มแปลกใจว่าทำไมเรื่องสำคัญอย่างเรื่องเงินถึงตอบแค่'นั่นสิ' แต่ตอนนั้นก็คิดในแง่ดีว่าแม่อาจจะแค่เหนื่อยกระทั่งมาถึงจุดพีกที่ทำให้แน่ใจว่าแม่ต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์แน่ๆ คือ แม่ลืมเรื่องเงินๆทองๆ ตลอด มีครั้งหนึ่งแม่ออกไปข้างนอกแล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้ ต้องตามหากัน ยิ่งไปกว่านั้น แม่จำแพทไม่ได้!"
          เธอพยายามมองโลกในแง่ดีว่า การที่แม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ไม่ใช่เรื่องใหญ่"ทุกวันนี้เรากอดกันตลอด รักกันเสมออยู่แล้ว พอแม่ป่วยทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น การดูแลแม่ด้วยความใส่ใจ ไม่คิดว่ามันเป็นภาระ มันเป็นหน้าที่ที่ลูกต้องทำ ถ้าไม่ดูแลแม่แล้วจะให้ไปดูแลใคร แต่เหตุการณ์นี้มันทำให้ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น แม่เป็นแบบนี้เราก็ทำใจได้แล้ว"

pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved