HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 21/11/2556 ]
มีสุข...ท่ามกลางบรรยากาศขัดแย้ง
 อากาศเย็นลงในหลายพื้นที่ ช่วยสร้างบรรยากาศ ค่ำลงหนาวหมอกพัดมายะเยือกหน่อยๆ แดดร่มลมหนาวหากไม่วังเวง เพราะทุกคนทุกคณะต่างมาตามนัด อยากไปม็อบไหน มีหลายสถานที่ให้เลือก
          ใกล้บ้าน ถ้าชอบก็ดี แต่ถ้าไม่ชอบล่ะ?!?
          ม็อบ... กิจกรรมทางการเมืองที่มีความหมายเป็นพหูพจน์ ต้องร่วมทำกับคนหลายคนเมื่อมีม็อบไม่ว่าจะประเภทใด สิ่งที่ตามมาก็คือ
          บรรยากาศของความขัดแย้ง ความโกลาหลวุ่นวาย รวมไปถึงความอึมครึมของบรรยากาศบ้านเมือง
          รศ.นพ.เดชา ลลิตอนันต์พงศ์อาจารย์ประจำวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องราว
          อันยุ่งขิงของสถานการณ์ม็อบในเวลานี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่ไม่อยากไปม็อบ แต่ม็อบมาอยู่ใกล้ๆ เรียกอีกนัยหนึ่งว่า คนข้างม็อบ หรือผู้มีที่ทำงานหรือนิวาสสถานประมาณแถวๆ ม็อบไม่อยากไปม็อบ ไม่อยากเกี่ยวข้องกับม็อบ แต่ม็อบก็มาจนถึงที่ ส่วนคนที่อยู่ไกลแสนไกลแต่ใจอยากมา และมาได้ อันนั้นไม่ต้องไปห่วง
          "คนไม่มีความสุข เขาถึงไปม็อบ เมื่อไปม็อบแล้วก็มีความสุข เนื่องจากได้แสดงออกได้ระบายออกซึ่งความอัดอั้นตันใจ ความคับข้องใจ"
          ขณะที่คนที่ได้รับผลกระทบจากม็อบ ม็อบมารบกวนในเรื่องการเดินทางการทำงาน การ
          ประกอบอาชีพ หรือการเรียนในกรณีของนักเรียนสังกัดโรงเรียนในพื้นที่ร่วมชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนั่นเป็นม็อบที่ผู้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยอีกต่างหาก ยิ่งกระทบก็เหมือนจะยิ่งกระเทือน ทำให้คับข้องใจและต่อต้าน
          "ก็ขึ้นอยู่กับเจตคติของเขาเองว่า การร่วมชุมนุมนั้นๆ มีหรือไม่มีประโยชน์ ถ้าเขามองว่าไม่มีประโยชน์ ก็ยิ่งต่อต้าน จะอย่างไรก็ตามควรวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านก่อน เช่น เป็นม็อบอะไร มีข้อเรียกร้องอย่างไร มีความรุนแรงหรือไม่ มองเจตนาของม็อบ ก่อนตัดสินว่ามันรบกวนเราในระดับไหน"
          รศ.นพ.เดชา กล่าวว่า การจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับม็อบใดๆ นั้น ในทางจิตวิทยามีเกณฑ์ใช้วัดเกี่ยวกับความผิดปกติทางพฤติกรรมใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับศีลธรรม2.ระดับสิทธิ ระเบียบหรือกฎหมาย และ3.ระดับค่านิยม
          หากความผิดปกติทางพฤติกรรมนั้นๆเกี่ยวโยงกับศีลธรรม ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ก็จะยิ่งทำให้คนออกมามาก
          "นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมม็อบจึงจุดติด ทำไมพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงถูกต่อต้านรุนแรง ก็เพราะผู้เข้าร่วมชุมนุมมองว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ขัดต่อคุณธรรม จริยธรรม อธิบายตามหลักจิตวิทยากลุ่มว่า เพราะเป็นระดับสูงสุดของปัญหาทางความรู้สึกต่อพฤติกรรมที่บิดเบี้ยว" รศ.นพ.เดชา กล่าว
          กรณีถ้าเราเข้าร่วมชุมนุม มีคำแนะนำให้ประเมินตัวเองใน 3 ลักษณะ คือ1.ประเมินก่อนเข้าชุมนุม 2.ประเมินระหว่าง
          เข้าชุมนุม และ 3.ประเมินหลังเข้าชุมนุม
          ก่อนเข้าชุมนุมใดๆ ต้องประเมินทั้งด้านร่างกาย จิตใจ โรคประจำตัว หากเครียดอยู่ด้วยร้อยแปดประการอื่นไม่ควรร่วมม็อบประเมินความเสี่ยง ต้องปลอดภัยเท่านั้น จึงจะร่วมได้ อย่าลืมสอดส่ายสายตาดูทางออกฉุกเฉินไว้ด้วย
          สำหรับการประเมินระหว่างชุมนุม หากมีความเครียดมาก ต้องจัดการกับอารมณ์เครียด ณ ขณะนั้นทันที อันดับแรก ต้องลดข้อมูลที่เข้ามาในหัว อาจจะสนใจน้อยลงบางคนใช้หูฟังเพื่อฟังเพลงเป็นต้น
          วิธีง่ายๆ ที่ได้ผล ให้ผ่อนคลายตัวเองโดยนั่งลง หรือถ้านั่งอยู่แล้วก็ให้เอนตัวและผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ
          "ด้วยวิธีนี้กรดด่างในร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าภายใน 1 ชั่วโมงไม่ดีขึ้น ให้ออกจากสถานที่ชุมนุมทันที"
          ทางด้านการประเมินหลังเข้าชุมนุม ให้ประเมินข้อมูลที่ได้รับในวันนั้นว่า ตรงกับความรู้สึกหรือความต้องการส่วนตัวของเราหรือไม่ ถ้าไม่ตรงใจหรือตรงความต้องการ ก็ให้คิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ผลของการชุมนุมอาจไม่เป็นอย่างที่คาดหวังเสมอไป มองอย่างเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่ามองเป็นทางลบจนเกินไป ก็จะอยู่รอดปลอดภัยในสังคมม็อบ
          ศ.เทียนฉาย กีระนันทน์ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ให้ตั้งสติอยู่ในกรอบ 3 คุณธรรมหลัก คือ ความดี ความซื่อตรงความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบโดยเมื่อล้อมกรอบไว้ด้วย3 คุณธรรมหลักนี้แล้ว ก็เชื่อว่าจะทำให้คนในสังคมมีชีวิตอยู่ได้แบบมีความสุขดี ไม่เครียดเกินไป ในสถานการณ์แบบม็อบๆ ปัจจุบัน
          "เดินขบวนก็เดินด้วยความตั้งใจดี ร่วมคัดค้านก็ร่วมค้านแบบตั้งใจดี ไม่มีเจตนาแอบแฝง ก็จะไม่มีทางเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ผู้นำม็อบนำการชุมนุมด้วยความดี คนที่ไปร่วมก็อยู่ในกรอบ ม็อบแบบนี้จะพอดี จบแค่ไหนยังไง เป็นอัตโนมัติ พอดีพอสมของมันเอง"
          สำหรับความซื่อสัตย์และความซื่อตรงหมายถึง การไม่โกงกิน ไม่ทุจริต ไม่ประพฤติในทางที่ไม่ชอบ ไม่ถูกหรือไม่ควร ปฏิบัติตนหรือวางตนไว้ด้วยบรรทัดฐานแห่งความคิดความอ่านที่ซื่อตรง(Intrgrity) และซื่อสัตย์(Onnesty) คิดดี พูดดี ทำดี ส่วนความรับผิดชอบ คือ ความรับผิดชอบแบบ 100% ทั้งต่อตัวเอง สังคม และต่อส่วนรวมประเทศชาติ
          เหลือบแลชะตาบ้านชะตาเมืองเรืองรองจันทร์ทับมฤตยูในภพลาภะ สะท้อนถึงสถานการณ์แห่งลาภที่มีอยู่ แต่ผันแปรไม่แน่นอนบางเรื่องพลิกไปบางเรื่องพลิกมาดิถีมหาสูญโยงชะตารัฐบาลพ่วงกับฝ่ายค้าน ประดุจลูกข่างที่กำลังหมุนติ้วอยู่ในไห่เยี่ยน วันนี้ (20 พ.ย.) ยังไม่รู้หน้าไพ่จะออกแบบไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ม็อบคงมีอยู่ต่อไป เพราะตราบเท่าที่คนไทยยังเป็นคนไทย และสียังมีหลายสี วางใจให้ดีกันทุกท่านทุกคนเทอญ... เอื้อก
          ดูเด็กในม็อบให้ดี
          ภาพเจ้าตัวน้อยถือป้ายสีดำมีข้อความคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือภาพนักเรียนยืนทำมือเป็นรูปกากบาททางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เด็กเหล่านี้เด็กเกินไปที่จะรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เด็กก็ทำเห็นเป็นเรื่องสนุกท่ามกลางประเด็นความขัดแย้งของคนในชาติ ลูกหลานของเราได้เรียนรู้อะไร เราสอนอะไรพวกเขา และมีสิ่งใดที่เราต้องระวัง!!!
          พญ.ปราณี เมืองน้อยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า ไม่ผิดหากพ่อแม่มีความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่ง และต้องการให้ลูกมีความเชื่อแบบเดียวกัน แต่การนำความคิดความเชื่อใส่หัวเด็ก โดยเด็กยังไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เพียงพอ เท่ากับระบายสีที่ตัวเองชอบลงบนผ้าขาว ไม่เปิดทางให้เจ้าตัวน้อยผ่านกระบวนการเติบโต
          กรณีเด็กวัยต่ำกว่า 12 ปี หากได้ยินได้ฟังการวิพากษ์วิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์หรือเห็นภาพการชุมนุม การปราศรัยที่ดุดันเผ็ดร้อน เด็กจะไม่สามารถแยกแยะหรือจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อาจส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น นอนไม่หลับขาดสมาธิ จนถึงการเลียนแบบความรุนแรง
          สำหรับเด็กโตเกิน 12 ปี พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาหาข้อมูลให้กระจ่าง เพื่อทำการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลให้ปรากฏ ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่กระทำได้
          เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ ทุกการกระทำ ทุกคำพูด เด็กจับอารมณ์และน้ำเสียงได้ ทุกครั้งที่วิพากษ์การเมืองจึงต้องควบคุมอารมณ์และระมัดระวัง หน้าที่พ่อแม่คือ การเลี้ยงดูและปลูกฝังให้เหมาะแก่วัย ให้เด็กรู้จักคิด แยกแยะได้ตามเหตุผล เพื่อที่อนาคตสังคมไทยจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาแบบนี้อีก
          *ที่มา - สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
 

pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved