HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 25/10/2556 ]
ติดพนันคือโรคจิตรักษาได้

 

 คนไทยเยาวชนไทยติดพนันกันมากอย่างน่าเป็นห่วง การตรวจจับแต่ละครั้งมักจะมุ่งไปที่กวดขันกับบ่อน ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ควรจะมาเริ่มแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุ คือ ตัวผู้เล่นให้เลิกเล่นจะตรงประเด็นกว่าไหม หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าการติดการพนันถือว่าเข้าข่ายโรคจิตชนิดหนึ่ง ที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดทางจิตแพทย์ และการรักษาด้วยยา
          องค์การอนามัยโลกกำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง เรียกว่า "พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง" (Pathological Gambling)อาการคือ ผู้ป่วยจะหมกมุ่นคิดถึงแต่เรื่องการเล่นพนันอยากกลับไปเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ต่างจากคนติดเหล้า ติดบุหรี่ หรือติดยาเสพติด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขหลังจากได้เสี่ยงดวง ยิ่งไปกว่านั้นผู้ติดการพนันมักมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน คือ ยิ่งเสียยิ่งทุกข์ ยิ่งอยากลงเงินเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
          ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี2553 ระบุว่า ผู้ติดพนันตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่นจะยิ่งส่งผลร้ายต่ออนาคต โดย 61 เปอร์เซ็นต์ นำไปสู่การก่อคดีจี้ปล้นชิงทรัพย์ 12 เปอร์เซ็นต์ ล่อลวงเงินจากคนใกล้ชิด 9 เปอร์เซ็นต์เริ่มทำร้ายร่างกายคนใกล้ชิด สุดท้ายคือการขายทรัพย์สินใช้หนี้พนัน หรือไปขายบริการทางเพศ ค้ายาเสพติด สุดท้ายคือนักพนันคนนั้นจะเริ่มเสียสติและพยายามฆ่าตัวตาย!!
          ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการคล้ายคนติดยาเสพติด จิตใจจดจ่ออยู่กับการเล่นตลอดเวลา หากไม่ได้เล่นจะเกิดอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับไม่มีเงินก็จะต้องขวนขวาย กู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาเล่นและมีความพยายามที่จะเลิก แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากกรรมพันธุ์ มีผู้ศึกษาพบว่าหากมีพ่อแม่หรือญาติติดการพนัน มีโอกาสที่จะติดการพนันถึง 5 เท่า เพราะการเลี้ยงดู หากเด็กเห็นผู้ใหญ่เล่นการพนันจะอยากเล่นตาม
          แค่ไหนถึงติด
          เหตุเกิดจากสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (Amygdala) เป็นส่วนศูนย์กลางความพึงพอใจทำงานน้อย ต้องหากิจกรรมที่มีความตื่นเต้นสูงทำจึงจะมีความสุขและสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้น แนวทางการรักษาของจิตแพทย์ คือ การรักษาสามารถทำได้ด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม โดยในส่วนของพฤติกรรมจะต้องมีการจัดตารางเวลาว่าช่วงไหนทำกิจกรรมอะไร เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหมกมุ่นกับการคิดเล่นการพนัน ส่วนการใช้วิธีบำบัดทางความคิด จะต้องกระตุ้นให้นึกถึงข้อดีข้อเสีย และอนาคตที่จะต้องเสียไป สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใช้ยาแก้อารมณ์ซึมเศร้าร่วมด้วย
          ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดังกล่าวว่า หากใครอยากรู้ว่าเพื่อนฝูงหรือญาติเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเป็นโรคติดการพนันหรือไม่ ให้สังเกตจากจำนวนที่ออกไปเล่นไพ่ เข้าบ่อน ตู้เกม หรือเล่นการพนันชนิดต่างๆ หากเล่นอย่างน้อยอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เรียกว่ามีความผิดปกติเป็นโรคติดพนัน ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญบำบัดรักษา แต่คนไทยที่ติดพนันไม่ค่อยไปหาหมอรักษา เพราะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคจิต คิดแต่ว่าเล่นแล้วสนุกมีความสุขดี ได้ตื่นเต้นเร้าใจ
          คนที่ยอมไปหาจิตแพทย์รักษานั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการทางร่างกายจนเกิดจากความทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหว เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ส่วนผู้ที่ติดพนันกลับรู้สึกตรงข้าม เป็นความหลงผิดแบบไม่รู้ตัว คิดว่าตัวเองกำลังมีความสุข ตื่นเต้นสนุกสนาน พวกนี้ยอมเลิกเล่นพนันก็ต่อเมื่อหมดเงินหรือหมดตัวและติดหนี้พนันเยอะแยะจนไม่สามารถเล่นได้อีก น่าแปลกที่คนที่เล่นการพนันแล้วเสีย ไม่ค่อยตระหนักในความจริงที่ว่า มีคนที่ประสบผลสำเร็จจากการพนันน้อยมากเขามักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าเมื่อเสียแล้วน่าจะมีได้บ้างการปลอบใจตัวเองแบบนี้ ทำให้เขาไม่หยุดเมื่อเล่นเสียการขาดสติควบคุมตัวเองเป็นอาการสำคัญประการหนึ่งของโรคติดการพนัน
          บางคนชอบการพนันเป็นครั้งคราว ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมีรสชาติในชีวิตไม่ได้ใช้เงินทองมากมาย ไม่ได้เป็นหนี้เป็นสิน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่เล่น ยับยั้งชั่งใจได้ดี แบบนี้ไม่ใช่โรค ไม่ต้องรักษา เช่น ซื้อลอตเตอรี่งวดละ 1 ใบเผื่อฟลุกไม่ถือว่าติด
          แนวทางป้องกัน-รักษา
          การรักษาโรคติดการพนันไม่ค่อยได้ผล หากผู้เล่นไม่ให้ความร่วมมือ การป้องกันจึงสำคัญกว่าการรักษา ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ พยายามเสริมให้เด็กมีกิจกรรมที่ดี ให้เกิดวงจรความพึงพอใจชีวิตด้วยตัวเอง ให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่ดีกับกิจกรรมที่ถูกต้อง ใช้ความสามารถตนเองมากกว่าโชคหรือโอกาส ให้มีความสุขกับงานสร้างสรรค์ ให้รู้จักรอคอยความสำเร็จ ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ต้องไม่เป็นตัวอย่างของการเล่นการพนันเสียเอง
          เมื่อรู้สาเหตุแท้จริงแล้ววิธีบำบัดคือหากิจกรรมชดเชยให้ทำแทน ไปเที่ยวต่างจังหวัด กิจกรรมร้องเพลง เต้นรำ เล่นกีฬา ฯลฯ การรักษาต้องใช้เวลาต่อเนื่อง1-3 เดือนขึ้นไป

pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved