HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 26/02/2555 ]
การป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม
          รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
          สัปดาห์นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ เทพวัลย์ ศาสตราภิชานประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมานำเสนอประเด็นท้าทายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งมีใจความดังนี้
          "ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุปัจจัยซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูให้การอบรมบุตรได้ดีเหมือนสมัยก่อนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทำให้ทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงาน โรงเรียนก็ไม่สามารถดูแลเด็กนักเรียนได้ใกล้ชิด ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและวัฒนธรรมข้ามชาติ ทำให้วัยรุ่นและเยาวชนเข้าถึงสื่อทุกรูปแบบโดยไร้ขีดจำกัดสื่อที่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตหลายอย่างมีส่วนยั่วยุให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควรวัยรุ่นและเยาวชนส่วนหนึ่งจึงมีเพศสัมพันธ์โดยขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
          จากการสำรวจอายุเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆโดยปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นเริ่มมีเพศ
          สัมพันธ์ครั้งแรกอายุเพียง 13-15 ปี และยังพบว่าการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ถุงยางอนามัยมากถึงร้อยละ 50 การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ ทำให้วัยรุ่นประสบปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จากสถิติอัตราการคลอดบุตรของแม่วัยเยาว์ที่มีอายุน้อยกว่า20 ปี ที่มาคลอดในโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 13.85 ในปี พ.ศ. 2547 เพิ่มเป็น 16.0 ในปี พ.ศ. 2552 ผลจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทำให้แม่วัยเยาว์ไม่ได้ดูแลร่างกาย และไม่ได้รับอาหารเสริม บุตรที่เกิดจึงมักประสบปัญหาสุขภาพไม่สมบูรณ์ น้ำหนักแรกเกิดน้อย เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ วัยรุ่นและเยาวชนเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาจะมีความกดดันและความกังวลสูงจึงหันเข้าหาการทำแท้ง ซึ่งการทำแท้งนั้นผิดกฎหมาย จึงต้องแสวงหาที่ทำแท้งเถื่อนซึ่งเป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้ผู้ไปทำแท้งตกเลือด ติดเชื้อ บางรายรุนแรงจนถึงอาจเสียชีวิตได้
          เนื่องจากการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สถิติในด้านนี้จึงไม่สมบูรณ์ประมาณว่าปีหนึ่งมีผู้ทำแท้งประมาณ200,000-300,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชน ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมจึงเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน เป็นปัญหาระดับชาติ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้มี "นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557)และมียุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม และสมัชชาสุขภาพได้มีมติการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเน้นถึงความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับแต่ปัญหาที่สำคัญคือ การที่วัยรุ่นขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาและแสวงหาความรู้เอง เช่น จากอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็ได้ความรู้ผิดๆ เช่น คิดว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินใช้ได้กับการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ในเรื่องเพศศึกษาที่ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น จากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การแพธ (PATH) ดำเนินโครงการนำร่องในหลายจังหวัด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะวิชาเพศศึกษาไม่ได้เป็นวิชาที่ช่วยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโรงเรียนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรเรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งและควรเป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน (Comprehensive Sexuality Education) ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงทั้งในการศึกษาในระบบและนอกระบบตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาต้องเป็นวิชาบังคับ ทั้งนี้จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนการอบรมครูผู้สอน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้อย่างแท้จริง ในส่วนวัยรุ่นและเยาวชนที่มีการตั้งครรภ์ก็ควรให้สิทธิในการลาพักเรียนจนคลอด หรือให้สิทธิในการมาเรียนทั้งที่ตั้งครรภ์ได้ ซึ่งควรดำเนินการอย่างจริงจัง"
 
          รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์
          ด้านประชากรศาสตร์ จะมาประจำการบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ
          ประชากรไทย ทุกๆ วันอาทิตย์ ในคอลัมน์ 100 ปี ปรีดิ์เปรม

pageview  1205101    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved