HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 11/05/2555 ]
แรงงานจี้รัฐเลิกใช้แร่ใยหินขันนอตโรงงานปลอดภัย

   น้อยคนนักที่จะรู้ว่าวันที่ 10 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งตลอด 19 ปีหลังโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ในปี 2536 เรื่องราวอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานตั้งแต่การบาดเจ็บเสียอวัยวะเป็นรายบุคคลไปจนถึงอุบัติเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆขณะที่สถิติลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานในปัจจุบันอยู่ที่ 17.92 คนต่อลูกจ้าง 1,000 คน
          ทว่า นอกจากประเด็นเรื่องอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตอย่างชัดเจนแล้วประเด็นเรื่องอาชีวอนามัยหรือความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการทำงานยังเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานระบุว่า ยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
          สมบุญ สีคำดอกแคประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาครัฐยังขาดงบประมาณ รวมทั้งจำนวนแพทย์ พยาบาลด้านชีวอนามัยและวิศวกรเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
          "เจ้าหน้าที่ภาครัฐยังมีอยู่จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงงาน1.7 แสนแห่ง มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพียง 600 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ถึง 40 คนทำให้การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานมีเพียงรายงานในกระดาษ แต่ไม่มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบได้ทั่วถึง" สมบุญ กล่าว
          สมบุญ เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้น เพื่อให้มีคณะทำงานนำไปสู่การตั้งศูนย์ร้องเรียน เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างจริงจัง
          นอกจากนี้ หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องในปีนี้คือ การยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างเช่น กระเบื้องหลังคา ฝ้า และเพดานเพราะหากฝุ่นจากแร่ดังกล่าวสะสมในร่างกายนานวัน 20-30 ปี จะทำให้ป่วยเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในที่สุด
          ทั้งนี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหินจะร่วมกันรณรงค์และยื่นหนังสือร้องเรียนต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 เม.ย. 2554 ซึ่งห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์อย่างเคร่งครัด เพราะ 1 ปีที่ผ่านมายังมีการนำเข้าแร่ใยหินในปริมาณที่สูงเพิ่มขึ้นมาก จาก7.9 หมื่นตันในปี 2553 เพิ่มเป็น 8.1 หมื่นตัน ในปี 2554
          พุทธิ เนติประวัติสหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้แห่งประเทศไทยกล่าวว่า แม้ ครม.จะห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้นที่ประกาศเลิกใช้แร่ใยหิน ขณะที่กลุ่มคนงานก่อสร้างถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากแร่ดังกล่าวและพิสูจน์ได้ยากว่าโรคที่ป่วยนั้นเกิดจากการทำงาน เพราะไทยมีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์น้อยมาก
          "หากเจ็บป่วยแพทย์ก็จะลงความเห็นเพียงว่าเป็นมะเร็งปอดโดยไม่มีการพิสูจน์ต่อ ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเจ็บป่วย โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ผู้ประกอบจะอ้างว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่า เกิดจากการทำงานในช่วงที่เป็นลูกจ้างของตัวเอง เพราะกว่าจะเกิดโรคแรงงานส่วนใหญ่จะมีการย้ายที่ทำงานไปแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง"พุทธิ กล่าว
          ด้าน นพ.อดุลย์ บัณฑุกุลสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกว่า 100 ประเภท และยังมีแร่ใยหินที่จะได้รับจากการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างอีกมาก ซึ่งสมาพันธ์อาชีวอนามัยฯ จะประสานความร่วมมือแพทย์ พยาบาล ทุกระดับ เพื่อเก็บข้อมูลค้นหาผู้ป่วยจากแร่ใยหิน โดยการซักประวัติผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดว่ามีประวัติการทำงานอะไร นำไปสู่การรวบรวมข้อเท็จจริงเป็นหลักฐานทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนต่อไป


pageview  1205111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved