HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 06/07/2560 ]
ทุนนอกโดดลุยธุรกิจสูงวัยสธ.เล็งคุมเข้มเนิร์สซิ่งโฮม

 โรงพยาบาล-เนิร์สซิ่งโฮม เด้งรับสังคมสูงวัย ทุนต่างชาติโดดร่วมวง "ญี่ปุ่น-จีน-สแกนดิเนเวีย" ทยอยจับมือพันธมิตร ลุยบ้านพัก-ศูนย์พักฟื้นคนชรา มุ่งจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ผู้ประกอบการชี้ดีมานด์ทะลักแต่ขาดคน หวั่นคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้มเนิร์สซิ่งโฮม
          การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยที่มีจำนวนผู้สูงอายุ หรือที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ ประมาณ 67 ล้านคน และประเมินกันว่า ภายในปี 2564 ไทยจะมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20% หรือเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ ผู้สูงวัยหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นเพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว
          นายศีขรินทร์ ชเนศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร (ซีอีโอ) โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 2 โรงพยาบาลผู้สูงอายุ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ภาพรวมของตลาด ผู้สูงอายุมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ทั้งในแง่ของบุคคลธรรมดา การตั้งเป็นบริษัท รวมถึง โรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งก็ให้ความสนใจมาให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดที่เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ให้ บริการในรูปแบบที่อาจจะแตกต่างกันออกไป บางรายเน้นการดูแล บางรายเน้นการรักษา บางรายเน้นการดูแลในระยะยาว
          อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจำนวนตัวเลขมูลค่าตลาดหรือในแง่ของจำนวนผู้ให้บริการนั้นไม่มีความชัดเจนนัก แต่ธุรกิจนี้เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดนี้จึงมีความต้องการมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่เปิดให้บริการมากในตอนนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของการดูแล หรือเนิร์สเซอรี่ และการส่งคนไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน หรือโฮมแคร์ โดยส่วนใหญ่เป็นการ เข้ามาในตลาดระดับกลาง ความเป็นจริงตลาดนี้เปิดกว้างและเป็นตลาด ที่ใหญ่มาก แต่มีปัญหาขาดบุคลากร ที่จะมาทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ
          ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นอกจากบริษัทเล็ก ๆ หรือที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮมเพิ่มอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างประเทศที่ได้ทยอยเข้ามาเปิดให้บริการในลักษณะเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนไทย และที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่เป็นในลักษณะของการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นการพักฟี้นระยะยาว หรือลองเทอมแคร์ และมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่ทำในลักษณะของ เรียลเอสเตต เป็นการสร้างบ้านพักขายให้กับกลุ่มที่เกษียณ หรือรีไทร์ รวมถึงพวกชาวต่างประเทศที่มาทำงานในเมืองไทย (Expat) ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น ยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก)
          ด้านนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับตลาด ผู้สูงอายุอยู่แล้ว ทั้งผู้สูงอายุที่ไม่ป่วย และผู้สูงอายุที่ป่วย โดยส่วนตัวมองว่าตลาดผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้นเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก และเป็นนิชมาร์เก็ต อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้น จึงมีธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มนี้ ทั้งในแง่ของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจรับจัดหาและให้บริการผู้ดูแลผู้สูงวัย แต่ส่วนใหญ่ยังขาดในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีกลุ่มทุนต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ได้ตั้งบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ กลุ่มทุนจากประเทศจีน ที่ตั้งบริษัท วอร์เนอร์เรียลเอสเตท ดีเวลล้อปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อประกอบกิจการโรงแรม บ้านพัก คนชรา หรือบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยญี่ปุ่น ในชื่อของบริษัท ฮันโนะ-เวชพงศ์ เจริแอทริค เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบกิจการให้บริการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในและนอกสถานที่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุน จากประเทศนอร์เวย์ที่ทำธุรกิจอยู่ในเมืองไทยมาระยะหนึ่งในภาคตะวันออก จับมือกับนักธุรกิจไทยตั้งบริษัท สบายใจ รีสอร์ท จำกัด จะเปิดดำเนินการในอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
          รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ"ว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม) มีผู้ประกอบการที่ยื่นจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการเนิร์สเซอรี่ และบริษัทรับจัดหาพนักงานดูแลผู้สูงอายุ มากกว่า 50 ราย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี และเป็นที่น่าสังเกตว่าในต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองหลัก ๆ ในภูมิภาคก็มีเนิร์สเซอรี่ทยอยเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และสงขลา
          ที่ผ่านมาแม้จะมีเนิร์สเซอรี่รายใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่หลังจากที่เปิดให้บริการได้เพียง 2-3 ปีก็ปิดตัวลง ส่วนรายที่ยังเปิดให้บริการอยู่จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 1-2 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรไม่มากนัก หรือหากเป็นรายใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 4-5 ล้านบาท คิดเป็นกำไรเฉลี่ย 4-5 แสนบาท
          ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันยังไม่มีจำนวนผู้ให้บริการเนิร์สเซอรี่ที่อย่างเป็นทางการว่ามีมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะดูแลควบคุมธุรกิจนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ สบส.กำลังเร่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่ โดยจะออกประกาศเป็นกฎกระทรวง โดยใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 (3) เป็นตัวหลัก เพื่อควบคุมดูแลธุรกิจนี้ หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของการให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนและการออกใบอนุญาต


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved