HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 16/02/2560 ]
'ปั๊มลูก' ต้องมีคุณภาพ

   ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนวันหยุดยาว 3 วัน ชดเชยวันมาฆบูชา มีข่าวที่สร้างความฮือฮาและเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ข่าวหนึ่ง
          หนังสือพิมพ์หลายฉบับ พาดหัวข่าวอย่างมีสีสัน เริ่มจาก ไทยรัฐ "ปั๊มลูกเพื่อชาติ สธ.ขอสาวไทย"
          ตามด้วย ข่าวสด "ตีปี๊บแผน "ปั๊มลูก" เพื่อชาติ"
          ขณะที่ กรุงเทพธุรกิจ พาดว่า "สธ.งัดมาตรการจูงใจมีลูก หวั่น 10 ปี ประชากรหดหาย"
          ส่วนมติชน พาดหัวเรียบ ๆ ว่า "สธ.เตรียมทำโครงการใหญ่ หนุนสาวไทย มีลูกเพื่อชาติ" นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่ง
          สาระสำคัญของข่าวชิ้นนี้ เป็นการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเปิดตัว "โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ ตามนโยบายส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ" ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559
          นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องการมีลูก
          ที่ผ่านมา สธ. มีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง เมื่อช่วงปี 2556 มียุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อเพิ่มการมีบุตรของหญิงไทยให้สูงขึ้น ถัดมาปี 2558 ก็มีการณรงค์เรื่องการปั๊มลูกเช่นกัน หลังจากที่อัตราการเกิดลดลงอย่างน่าใจหาย
          ผลพวงจากคนแต่งงานช้า ไม่นิยมมีลูก หญิงไทยเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานน้อยลง และหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ต่างก็มีปัญหานี้เช่นกัน
          สำหรับสังคมไทย ไม่เพียงเฉพาะอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งบ้านเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
          "เกิดน้อย แก่มาก" เป็นสองสิ่งที่สังคมไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือให้ได้
          แต่การแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฯลฯ ต่างมีการรณรงค์และทำเรื่องนี้อย่างจริงจังแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
          สมัยนี้ การที่ใครจะมีลูกสักคนหนึ่งนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่สูง พ่อแม่ก็ต้องออกไปทำงานไม่มีเวลาเลี้ยงดู ต้องนำไปฝากสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเนิร์สเซอรี่ พอโตเข้าโรงเรียน การแข่งขันก็สูง กว่าจะเข้ามหาวิทยาลัย กว่าจะจบ ทำงานมีอาชีพ...เป็นอะไรที่ต้องคิดต้องวางแผน
          ลำพังเพียง มาตรการจูงใจทั้งการปรับปรุงแก้ไขสิทธิการลาคลอดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรส การกำหนดมาตรการทางภาษีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตร และมาตรการอื่น ๆ ที่ สธ.กำลังดำเนินการ อาจไม่พอ
          ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ นายแพทย์เกษม วัฒนชัยองคมนตรี เรื่อง "การพัฒนาคน เพื่ออนาคตประเทศไทย" ที่ตีพิมพ์โดยวารสารเศรษฐกิจและสังคม ของสภาพัฒน์ เมื่อสัก 2-3 ปีที่ผ่านมา น่าคิดครับ
          ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า "...ต้องมองตั้งแต่ในครรภ์แม่ เพราะว่าสมองของเด็กเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์แม่ และรับรู้ตั้งแต่สามเดือนสุดท้าย เพราะฉะนั้น สุขภาพอนามัยของแม่และเด็กสำคัญ และหากพิจารณาถึงเด็กไทยที่มีปัญหาทั้งเด็กและวัยรุ่น ปัญหาใหญ่ คือ ครอบครัว ที่ไม่อบอุ่นหรือครอบครัวแตกแยก เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่มาก สถาบันครอบครัวต้องได้รับการดูแล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวนับวันยิ่งมีความห่างเหินกันไป"
          นี่คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดใหม่มีคุณภาพ มากกว่าจะเน้นเรื่องปริมาณ
          "เกิดน้อย" คงไม่เท่าไหร่ แต่หาก "ด้อยคุณภาพ" ด้วยนี่ซิ...คงตกเป็นภาระสังคมในที่สุด


pageview  1205145    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved