HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 03/07/2556 ]
เรื่องไม่ธรรมดา ที่มากับ'เสียงแหบ'

 นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกูล หัวหน้ากลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลกลางสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
          อาการเสียงแหบพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้ว อาการเสียงแหบก็มักจะดีขึ้นด้วย แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เมื่อหวัดหายแต่อาการเสียงแหบยังมีอยู่ ผู้ป่วยจะรอดูอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์  ด้วยหวังว่าอาการเสียงแหบจะหายไปได้เอง เมื่อพบว่าไม่หายท่านสมควรมาพบแพทย์ บางกรณีในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เสียงในการประกอบวิชาชีพ เช่น ครู อาจารย์ที่ต้องใช้เสียงในการสอนหนังสือ นักร้อง พนักงานรับโทรศัพท์ หรือพนักงานขาย ฯลฯ  ท่านเหล่านี้เมื่อเสียงแหบจะเดือดร้อนมากกว่าคนปกติจึงมักรีบมาพบแพทย์ ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นแพทย์หู คอ จมูก เนื่องจากสามารถใช้เครื่องมือตรวจส่องลงไปที่สายเสียง และกล่องเสียงได้  ท่านจะได้ทราบชนิดของโรค และการรักษาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
          ที่กล่าวมาแล้วนั้น เราเรียกว่าอาการเสียงแหบแบบเฉียบพลัน คือเป็นไม่นาน แต่อาการเสียงแหบสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามระยะเวลาที่เป็นและสาเหตุ คือเสียงแหบชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง โดยชนิดเฉียบพลันมักจะมีอาการไม่เกิน 1 เดือน ส่วนชนิดเรื้อรังก็คือพวกที่เป็นมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
          สาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการเสียงแหบแบบเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่  กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ เช่นไข้หวัดต่างๆ ไอกรน คอตีบ เป็นต้น  ส่วนสาเหตุอื่น รองลงมาเช่น การตะโกนใช้เสียงมากเกินไป การถูกกระแทกหรือประสบอุบัติเหตุที่ลำคอ ฯลฯ  ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงแหบชนิดเรื้อรัง ได้แก่ การบวมเรื้อรังของ สายเสียง การมีตุ่มที่สายเสียงจากการใช้เสียงผิด โรคเนื้องอก ธรรมดาหรือถุงน้ำ (cyst) โรคกรดไหลย้อน วัณโรคของกล่องเสียง สายเสียงเป็นอัมพาต ฯลฯ  แต่ที่น่ากลัวที่สุดและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ได้แก่ มะเร็งของกล่องเสียง และมะเร็งของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
          ในครั้งนี้จะขอกล่าวเฉพาะอาการเสียงแหบที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งจะเป็นไปได้ 2 กรณีคือ การอักเสบติดเชื้อที่บริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดการบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอุดกั้นทางเดินหายใจ จนหายใจไม่ออก และการเป็นมะเร็งของกล่องเสียง หรือต่อมไทรอยด์ ในกรณีแรกเป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลันของกล่องเสียง มักพบได้ในเด็กเล็ก โรคที่เป็นสาเหตุคือโรคไอกรน และคอตีบ ซึ่งในปัจจุบันพบได้น้อยมาก เนื่องจากมีการให้ วัคซีนป้องกันโรคนี้แก่เด็กทุกคนแล้ว แต่เมื่อไม่นาน นี้เริ่มมีการพบโรคนี้กลับมาอีกครั้ง การที่เด็กเล็กมีไข้สูง ไอมาก เสียงแหบ  ร่วมกับอาการหอบเหนื่อยหายใจลำบาก ต้องรีบนำเด็กไปพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถทำให้เด็กหายเป็นปกติได้
          ส่วนกรณีที่เสียงแหบเกิดจากมะเร็งของกล่องเสียงหรือต่อมไทรอยด์ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าท่านมาพบแพทย์เร็ว มะเร็งมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลามไปที่ใดการรักษาอาจจะใช้เพียงการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด หรือสามารถผ่าตัดเอาบางส่วนของกล่องเสียงออก ทำให้หลังการรักษา ผู้ป่วยยังสามารถพูดได้ แต่ถ้าท่านมาพบแพทย์ช้า มะเร็งลุกลามแล้ว การรักษาก็คือต้องผ่าตัดเอากล่องเสียงออกทำให้ท่านจะพูดไม่ได้ และถ้าร้ายแรงมากกว่านั้นคือมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญอื่น เช่น ปอด ตับและสมองแล้ว แบบนี้ก็สุดความสามารถที่แพทย์จะผ่าตัดออกให้หมดได้
          โดยสรุป  อาการเสียงแหบอาจจะเป็นอาการธรรมดาเล็กน้อยหรืออาการนำของโรคร้ายแรงได้ ถ้าท่านมีอาการเสียงแหบแบบเฉียบพลัน และรู้สึกหายใจลำบาก หอบเหนื่อย  ท่านควรมาพบแพทย์หูคอจมูกทันที หรือถ้าท่านเสียงแหบที่เป็นเรื้อรังนานกว่า 1 เดือนขึ้นไป ขออย่าได้นิ่งนอนใจ ต้องมาพบแพทย์หูคอจมูก ตรวจส่องดูให้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด  เพราะถ้าพบว่าเป็นโรคร้ายแรงจะได้ทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น การรักษาก็จะไม่ยุ่งยาก และ ผู้ป่วยยังสามารถพูดใช้เสียงได้ต่อไปเป็นปกติด้วย ขอบอกนะครับ


pageview  1205874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved