HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 03/07/2556 ]
"โรคเก๊าท์(GOUT)"

   โดย...แพทย์หญิงเสาวนีย์  เบญจมานุกูล อายุรแพทย์ สาขาอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซั่ม
          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "ข้อ" เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย  ข้ออักเสบเป็นภาวะก่อให้เกิดความเจ็บปวด อาการแสดงได้แก่ อาการบวม แดง ร้อน บริเวณข้อนั้น ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย เนื่องจากไม่สามารถขยับข้อต่อ นั้นๆ ได้ ส่งผลต่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน  ไม่ว่า จะเป็นข้อที่มีขนาดใหญ่ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งทำให้เดินไม่ได้ หรือ ข้อที่มีขนาดเล็ก เช่น ข้อนิ้วมือ ก็จะทำให้หยิบจับของไม่สะดวก หรือแม้แต่หยิบช้อนส้อมในการกินข้าวก็ไม่ถนัด
          การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบว่าเป็นชนิดใดคงต้องขึ้นกับว่าเป็นข้อใด  จำนวนข้อที่อักเสบ ระยะเวลาที่ข้อเริ่มอักเสบว่าเป็นชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรัง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อย ได้แก่  โรคเก๊าท์ที่เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกสูงมากกว่าปกติจนเกินจุดอิ่มตัวในเลือด เกิดการตกตะกอนเป็นผลึกยูเรทสะสมอยู่ตามข้อต่อและเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อ ตำแหน่งที่พบ มักเกิดกับข้อเท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วเท้า โดยเฉพาะข้อนิ้วเท้าแรก มักก่อให้เกิดการอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากใน 1-2 วันแรก ถ้าผู้ป่วยได้กินยาแก้ปวด อาการข้ออักเสบจะดีขึ้นจนหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์  อาการปวดนั้นจะหายสนิทเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาการปวดข้ออาจกำเริบซ้ำโดยอาจเป็นข้อเดิมหรือข้อใหม่ในเวลาต่อมา โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการกำเริบของโรคเก๊าท์ที่เกิดขึ้นบ่อยโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้มีระยะเวลาระหว่างการกำเริบซ้ำที่สั้นลง และจำนวนข้อที่กำเริบจะเพิ่มมากขึ้น จนสุดท้ายผู้ป่วยอาจปวดข้อตลอดเวลาจนกลายเป็นการอักเสบของข้อเรื้อรังคล้ายข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ ผู้ป่วยเหล่านี้มักพบปุ่มก้อนรอบข้อ ถ้าเป็นมากปุ่มก้อนเหล่านี้อาจแตกออกพบลักษณะคล้ายชอล์กสีขาว ในประสบการณ์ของข้าพเจ้าพบว่า ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเนื่องมาจากธรรมชาติของโรคที่มักหายได้เป็นปกติหลังรับประทานยาแก้ปวดซึ่งสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา หรือผู้ป่วยสามารถหาซื้อยาสมุนไพรซึ่งมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ยาเหล่านี้เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น สามารถบรรเทาอาการปวดได้เป็นครั้งคราวแต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุจนทำให้กรดยูริกในเลือดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อถี่ขึ้นและซื้อยาเหล่านี้มา รับประทานบ่อยขึ้น ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ กระเพาะอาหารเป็นแผล บางรายอาจเป็นมากถึงมีเลือดออกจากทางเดินอาหารจนกระเพาะอาหารทะลุได้ในที่สุด ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่สำคัญได้แก่ ไตเสื่อม ผู้ป่วยบางรายกินยาแก้ปวดต่อเนื่องจนถึงไตวายเรื้อรังจนต้องล้างไตในที่สุด เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าผู้ป่วยมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรก ก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับประทานยาลดกรดยูริกตามข้อบ่งชี้ ซึ่งจะทำให้กรดยูริกในเลือดลดลง ไม่สามารถไปตกตะกอนตามข้อได้อีก ก่อให้เกิดข้ออักเสบที่น้อยลงจนในที่สุดไม่มีข้ออักเสบเกิดขึ้นอีกเลย นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรได้รับการตรวจหาโรคร่วม ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่มีกรดยูริกสูงที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบของข้ออักเสบบ่อยขึ้น เช่น อาหารทะเล สัตว์ปีก เครื่องใน สัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้อาจต้องงดยาบางประเภทที่อาจมีผลต่อระดับกรดยูริกในเลือด ได้แก่ ยาขับปัสสาวะบางชนิด เป็นต้น เพียงเท่านี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทนเจ็บปวดกับอาการข้ออักเสบที่กำเริบขึ้นบ่อยๆ ที่สำคัญ คือ   ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจนถึงอันตรายแก่ชีวิตเพียงเพราะมีความรู้ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
          โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)198 หมู่ 1 ถ.บ้านแพ้ว-พระประโทน ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร 74120 โทร. 034-419555 โทรสาร. 034-482832 E-mail Address : banphaeo@yahoo.com
 


pageview  1205872    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved