HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 03/07/2556 ]
นอนกรน-หยุดหายใจอันตรายกว่าที่คิด(1)

 รศ.ดร.ทพ. สมศักดิ์ ไมตรีรัตนะกุล  และ อ.ทพ.พลกร  บูรณะประเสริฐสุข     อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยวคณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล
          ปัจจุบันปัญหาการนอนกรนนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะการนอนกรนนอกจากจะทำให้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแล้วยังอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามได้  อย่างไรก็ตามการดูแลทางทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนชนิดอุดกั้น (Dental care for snoring and obstructive sleep apnea patients) อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาปัญหาการนอนกรน
          อาการนอนกรน  (Snoring) คืออะไร
          อาการนอนกรน  เกิดในขณะนอนหลับ กล้ามเนื้อคอจะผ่อนคลายและหย่อนตัว  ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง  อากาศที่เคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง  จะทำให้การสั่นของเนื้อเยื่อคอ  เช่น ทอนซิล  เพดานอ่อน  ลิ้นไก่  การสั่นดังกล่าวทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น  นอกจากการหย่อนของกล้ามเนื้อคอ  ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการแคบลงหรืออุดตันของทางเดินหายใจ  เช่น  ต่อมทอนซิลโต  ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่มาก  ผู้ป่วยมีลิ้นโต  การมีเนื้องอกหรือถุงน้ำของระบบทางเดินหายใจส่วนบน  อาการนอนกรนจึงเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ
          ภาวะหยุดหายใจขณะนอนชนิดอุดกลั้น  (obstructive  sleep apnea : OSA) คืออะไร
          ในขณะหลับ  นอกจากเกิดอาการกรนแล้ว  ยังอาจพบว่ามีการหยุดหายใจร่วมด้วย  เมื่อเนื้อเยื่อคอหรือลิ้นหย่อนลงไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น  ร่างกายจะพยายามหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อให้อากาศผ่านเข้าทางเดินหายใจที่ตีบลง  ยิ่งทำให้ทางเดินหายใจแคบขึ้นจนกระทั่งปิดสนิท คล้ายกับการดูดชิ้นของอาหารด้วยหลอด  ชิ้นของอาหารจะติดที่ปลายหลอด  ทำให้ไม่สามารถผ่านไปได้  อาหารในที่นี้เปรียบเสมือนอากาศนั่นเอง  เมื่ออากาศไม่สามารถผ่านทางเดินอากาศที่ปิดสนิท  ร่างกายจึงไม่สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้  เมื่อสมองขาดออกซิเจน  จะทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่นขึ้นในรูปแบบการหายใจแรงหรือไอแรง  เพื่อปรับตำแหน่งของลิ้นใหม่เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ในวงรอบของการนอน  อาจมีการกรนและภาวะหยุดหายใจหลายครั้งเป็นผลทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่เพียงพอและสมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ฉบับหน้ามาดูกันต่อ


pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved