HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 13/06/2561 ]
ห่วงเด็กไทยกระเป๋านักเรียนหนักเกินไป

  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี ( รพ. เด็ก ) เตือน ผู้ปกครองใส่ใจลูกหลาน วัยประถม เนื่องจากต้องแบกกระเป๋านักเรียนหนัก หวั่นบาดเจ็บจากการ หกล้ม กล้ามเนื้ออักเสบ และส่งผลต่อ ประสิทธิภาพการเรียนรู้
          นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า จากข้อมูลพบว่าเด็กไทยวัยประถมแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ  10 ของน้ำหนักตัวเด็ก เช่น หากเด็ก น้ำหนัก 30 กก. น้ำหนักกระเป๋าที่ถือต้องไม่เกิน 3 กก. แต่ปัจจุบันพบว่ากระเป๋านักเรียน 1 ใบ มีน้ำหนัก 4-6 กก.
          "การที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ ทั้งหนักและนาน อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกาย และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก"
          ทางด้านายแพทย์สมเกียรติ  ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มว่า  เด็กวัยอนุบาลหรือประถมต้น ยังมีการทรงตัวที่ไม่ดีนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตและพัฒนาการการทรงตัว อีกทั้งกำลังแขนขายังไม่แข็งแรง การแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เด็กล้มง่าย เดินลำบากมากขึ้น เกิดการบาดเจ็บทั้งจากการล้มและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแบกกระเป๋า
          "ทั้งนี้กระเป๋านักเรียน ที่ใช้อาจ แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ แบกกระเป๋าโดยใช้มือถือ และแบกกระเป๋าโดยแขวนหลัง  (back pack) ซึ่งแบบมือถือไม่เหมาะกับการแบกเป็นเวลานาน อาจเกิดการบาดเจ็บ และเสียสมดุลร่างกายได้มากกว่า แบบแขวนหลัง แต่อย่างไรก็ตาม การแบกกระเป๋าที่หนักเป็นเวลานานจะเพิ่ม โอกาสในการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายโดยเฉพาะแขน ไหล่และสะบัก แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปหรือกระดูกไม่เจริญเติบโต เนื่องจากการเจริญเติบโตของเด็กยังมีปัจจัยประกอบหลายประการ อาทิ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและกรรมพันธุ์ของเด็ก"
          ทั้งนี้หากกระเป๋ามีน้ำหนักมาก แนะนำให้ใช้กระเป๋าลาก แต่ถ้าน้ำหนักไม่มาก และต้องการแบกเป็นเวลานาน ควรใช้กระเป๋าโดยแขวนหลัง (back pack)


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved