HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 31/01/2561 ]
เผย3ปี อุ้มบุญ 149รายเล็งดันไทยสู่ เมดิคัลฮับ

 กรุงเทพธุรกิจ สบส.เผย 3 ปีบังคับใช้กฎหมาย อุ้มบุญอนุญาตคลินิก 75 แห่งอุ้มบุญแล้ว 149 ราย ประสานกรมศุลกากร-ตม.คุมเข้มนำเข้า-ส่งออกไข่- อสุจิข้ามประเทศ วางเป้าปี 62 ดันไทยสู่เมดิคัลฮับ รักษาผู้มีบุตรยาก ระบุ 2 ปัจจัยเอื้อ มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองยิ่งสร้างความเชื่อมั่น
          วานนี้(30ม.ค.)พญ.ประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวภายหลัง เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 สู่การปฏิบัติ"ว่า พรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ค.2558 ในช่วง 3 ปี มีสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 75 แห่งทั้งรัฐ และเอกชนกระจายอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ และ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ได้พิจารณาเรื่องขออนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนเสร็จสิ้นแล้ว 157 คู่ โดยอนุญาต 149 คู่ คิดเป็น 95% ในจำนวนนี้มีรายงานการคลอดแล้ว 12 คู่ และไม่อนุญาต 8 คู่ หรือ 5% เนื่องจากคุณสมบัติของหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้บริจาคไข่ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
          ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสบส. กล่าวว่า ในการป้องกันการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด กรม สบส.จึงมีนโยบายในการเพิ่มมาตรการคุมเข้ม โดยจัดทีมเฝ้าระวังในสื่อโซเชียลดูแลกำกับมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือโฆษณาที่ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรม มนุษยธรรม ทั้งการรับจ้างตั้งครรภ์ซื้อ-ขายไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน รวมทั้ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร และตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เป็นต้น ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป้องปรามการกระทำผิดอีกด้วย โดยเฉพาะในประเด็นการนำเข้า หรือส่งออกอสุจิ ไข่ และตัวอ่อน ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นหรือทราบเบาะแสการกระทำที่เข้าข่ายการรับจ้างอุ้มบุญ ซื้อขาย อสุจิ ไข่ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้าให้มีการรับจ้างตั้งครรภ์สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18418, 18419 หรือ 18618 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดโดยทันที
          "ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแพทย์ที่มากด้วยความสามารถและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้มีอัตราความสำเร็จจากการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทาง การแพทย์ค่อนข้างสูงส่งผลให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างให้การยอมรับและเข้ารับบริการเป็นจำนวนมากจึงเกรงว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด ยิ่งในยุคดิจิทัลที่สื่อโซเชียลเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว"นพ.ธงชัยกล่าว
          ดันไทยเมดิคัลฮับด้านรักษามีบุตรยาก
          ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ในส่วนของสถานพยาบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอนุญาตให้รักษาผู้มีบุตรยากได้ 75 แห่ง ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยในจำนวนสถานพยาบาลที่ยื่นขออนุญาตได้รับการขึ้นทะเบียนเกือบ 100 % ส่วนการขออนุญาตตั้งครรภ์แทนที่ไม่อนุญาตส่วนใหญ่ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่กฎหมายระบุ
          ซึ่งสถานพยาบาลที่ยื่นเรื่องก็ทราบแต่เป็นการยื่นขอเพื่อให้มีเอกสารรับรองในการยืนยันต่อคู่สมรส ผอ.สำนักสถานพยาบาลฯ กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการกำกับควบคุม ติดตามการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตามกลไกของพ.ร.บ.นี้อย่างเป็นระบบและเข้มแข็งแล้ว อนาคตจะมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์(เมดิคัลฮับ)ด้านบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยในปี 2561 จะเข้มแข็งในเรื่องการควบคุม กำกับการดำเนินการตามกฎหมายและในปี 2562 จะเน้นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาและก้าวสู่การทำธุรกิจเต็มรูปแบบบนความถูกต้อง
          ทพ.อาคม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมี 2 ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเป็นเมดิคัลฮับด้านบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ คือ 1.ความเป็นคนไทยมีความละเอียดอ่อนในการให้บริการและความ ใส่ใจการดูแลผู้ป่วย และ2.แพทย์ที่จะให้การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องเป็นสูตินรีแพทย์ และได้รับวุฒิบัตร อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ซึ่งเชื่อมั่นฝีมือในการรักษาไม่เป็นลองใครในโลก ที่สำคัญ ก่อนปี 2558 ที่จะมีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯมีชาวต่างชาติ เดินทางมารับการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่าเป็นสวรรค์ของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ บวกกับเมื่อประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเป็นระดับ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและ ต่างชาติมากขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จะผลักดัน ประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับในด้านนี้เชื่อว่าสังคมโลกจะให้การยอมรับ
          แนะนำยึดหลัก"8 ห้าม 3 มี 3 ขอ"
          ทั้งนี้ในการกระทำตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ กรมสบส.แนะนำให้ยึด หลักการ "8 ห้าม 3 มี 3 ขอ" ไปใช้ก่อนดำเนินการใดๆที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ ดังนี้ 8 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามเลือกเพศ 2.ห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก ไข่/อสุจิ/ตัวอ่อน 3.ห้ามรับจ้างตั้งท้อง 4.ห้ามโฆษณา 5.ห้ามโคลนนิ่ง 6.ห้ามมีคนกลาง 7.ห้ามคู่สมรสต่างชาติทั้งคู่ ชาย/หญิงโสด คู่รักเพศเดียวกันและ 8.ห้ามปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการ ตั้งครรภ์แทน
          ส่วน 3 มี ได้แก่ 1.สถานพยาบาลมี การรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย 2.มีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา และ3.มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน และ 3 ขอ ได้แก่ 1.ขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีฯ กับกรม สบส. 2.ขออนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนจาก กคทพ. และ 3.ขออนุญาตให้มีการวิจัยตัวอ่อนที่เหลือใช้จากการบำบัดรักษาภาวะมีบุตรยากของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายจาก กคทพ. ทุกครั้ง


pageview  1205110    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved