HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 06/10/2560 ]
รู้ทันยา กับ "RDU รู้เรื่องยา"

กินยาผิดๆ ถูกๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
          รู้หรือไม่ว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากภาวะเชื้อดื้อยา เฉลี่ย 20,000-38,000 คน และส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการกินยาไม่ถูกโรค ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม
          ยิ่งปัจจุบันภัยเทคโนโลนีการสื่อสารที่ทันสมัย กลายเป็นอีกภัยที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น
          บ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวประชาชนหลายรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจอโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์ ยา เครื่องสำอางและสมุนไพรสรรพคุณเทวดาล้นเหลือก็หลงไว้ใจซื้อมาใช้โดยไม่ทันระวัง เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตก็มีมาแล้ว
          แต่ต่อไปคนไทยจะมีเครื่องมือตรวจสอบยาง่ายๆ ที่ช่วยให้ไม่ต้องกินยาแบบ "สุ่ม-เสี่ยง" อีกต่อไป
          เพียงดาวน์โหลด "RDU รู้เรื่องยา" อีกหนึ่งโมบายล์ แอพลิเคชันด้านสุขภาพตัวใหม่ที่ทุกคนควรมีติดไว้บนหน้าจอมือถือ
          "RDU รู้เรื่องยา" เกิดจากความร่วมมือของ 6 องค์กรชั้นนำด้านสาธารณสุข และนวัตกรรม ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          โดยที่ผ่านมา จากการศึกษาข้อมูลการใช้ยา โดย สสส. ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ทำให้พบพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะใน 3 โรคยอดฮิตอย่าง หวัด แผล ท้องเสีย การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อทำให้เสี่ยงต่อโรคไต หรือแม้แต่ยาพาราเซตามอล หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเกิดพิษต่อตับ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาเครื่องมือที่เสริมความรู้เรื่องยาที่ถูกต้องให้เข้าใกล้ประชาชนอีกนิด
          "RDU รู้เรื่องยา" เป็นอีกหนึ่งโปรเจคนำร่องภายใต้แนวคิด Health Tech ของเมืองไทย ที่ถูกออกแบบและพัฒนาสถาปัตยกรรม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านสาธารณสุข จนสามารถสร้างเนื้อหาให้สามารถรองรับบริการผ่านสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ โดยเนื้อหาความรู้จะถูกรวบรวมและเรียบเรียงโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันแอปพลิเคชันมีข้อมูลยากว่า 700 รายการแล้ว
          รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) หนึ่งในเครือข่ายที่ร่วมมือกล่าวว่าโครงการนี้จะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 คือการพัฒนาด้านข้อมูลยาที่กำลังได้รับหรือทีสนใจ รวมถึงสามารถเก็บข้อมูลยาของผู้ใช้ได้ในมือถือ ผ่านการสแกน QR code ที่จะมีติดอยู่บนฉลากยาเพียงครั้งเดีวยว ไม่ต้องเขียนบันทึกหรือทำอะไรเพิ่ม แอพก็จะระบุรายละเอียดชื่อโรงพยาบาล ชื่อยาที่ได้รับ วิถีการใช้ และข้อมูลฉลากเสริมพร้อมข้อมูลความปลอดภัยด้านยา รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลยา ข่าวสารเรื่องยา สาระยาน่ารู้นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพ ซึ่งในเฟสนี้ได้เปิดตัวไปแล้ว
          ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการพัฒนาระบบการเตือนเมื่อถึงเวลากินยา และรบบเตือนเมื่อได้รับยาที่เคยแพ้ หรือได้รับยาใหม่ที่อาจมีปัญหาฤทธิ์ต้านยาเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ยาสามารถแจ้งบุคคลากรผู้สั่งและจ่ายยาได้ในทันที และระยะที่ 3 ทีมงานวางเป้าหมายในระดับสามารถเชื่อมต่อข้อมูลยาของประชาชนกับสถานพยาบาลได้ โดยเมื่อผู้ป่วยเข้ารักษาตัว ผู้ให้บริการก็จะคอยตรวจสอบและเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วยได้จากแอพในมือถือ ผลดีคือทำให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่องถูกต้องและหลีกเลี่ยงการได้ยาซ้ำซ้อน เกินขนาดหรือขัดขวางการรักษา เพิ่มความปลอดภัยด้านยาให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น
          เมื่อระบบแอพลิเคชั่นดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ จะมีการเริ่มนำร่องใช้ที่โรงพยาบาลรัฐชั้นนำ ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.วชิรพยาบาล รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 10 แห่ง คือ รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี รพ.พระพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สระแก้ว รพ.ระนอง รพ.ระบี่ รพ.บุรีรัมย์ รพ.อุดรธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย สำหรับขั้นตอนการดำเนินงนกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบความสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะเปิดตัวใช้เป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2561 นี้


pageview  1205005    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved