HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 26/04/2555 ]
27เมษาฯ 10 จว. ร้อนทะลุ 40 องศา

กรมอุตุฯ ประกาศ 27 เม.ย.ไทยร้อนชี้ 10 จว.ทะลุ 40 องศา อุตรดิตถ์สูงสุด 44.5 องศา ขณะที่กรุงเทพฯ แตะ 39 องศา ด้านกรมควบคุมโรค คาดผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนไม่ต่ำกว่า 100 ราย เตรียมจัดทำระบบรายงานผู้ป่วย
          กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศคาดการณ์ว่า ในวันที่ 27 เม.ย.นี้กรุงเทพมหานคร จะมีอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดนั้น ทางศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว และบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด มากกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพอากาศปกติสำหรับในช่วงฤดูร้อน
          ส่วนฤดูร้อนของไทยจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือน ก.พ.ไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. เพราะเป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะเดือน เม.ย. เป็นเดือนที่ทุกภาคของประเทศมีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ สภาพอากาศโดยทั่วไปจึงร้อนอบอ้าว
          ชี้ 27 เม.ย.ร้อนสุดในรอบปี
          ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ยังระบุว่า หลายคนมักจะเข้าใจกันอยู่ตลอดมาว่าวันที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปีของประเทศไทยจะตรงกับวันที่ 27 เม.ย. ความเป็นจริงก็คือวันดังกล่าวเป็นวันที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในตอนเที่ยงวันจะอยู่ตรงกับศีรษะของคนในกรุงเทพมหานครเท่านั้น หลังจากนั้น ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ก็จะขยับขึ้นไปทางเหนือตามลำดับและจะอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศไทยประมาณวันที่ 23 พ.ค. จากนั้นยังคงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือต่อไป และจะเลื่อนกลับลงมาตรงกับกรุงเทพมหานครอีกครั้งประมาณวันที่ 16 ส.ค.
          สำหรับวันที่ 27 เม.ย.นั้น กรุงเทพมหานครจะมีอากาศร้อนที่สุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในวันดังกล่าว หากวันนั้นมีเมฆมาก มีฝนตก หรือมีลมพัดแรงก็จะส่งผลให้อากาศคลายความร้อนอบอ้าวลงกว่าวันอื่น ที่มีท้องฟ้าแจ่มใสหรือมีลมอ่อน และจากข้อมูลสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในเดือน เม.ย.ของกรุงเทพมหานครที่ตรวจวัดจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 4 สถานี คือ สถานีเฉลิมพระเกียรติศูนย์สิริกิติ์ สถานีอุตุนิยมวิทยาดอนเมือง สถานีอุตุนิยมวิทยาคลองเตย และสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร บางนา
          ในรอบ ปี พ.ศ. 2494 พบว่า กรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิสูงที่สุดตรงกับวันที่ 27 เม.ย. เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ ในปี พ.ศ. 2497 อุณหภูมิ 39.4 องศาเซลเซียส และ พ.ศ. 2502 อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงเดือน เม.ย.ยังมีวันอื่นๆ ที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 38-39 องศาเซลเซียสกว่าๆ เช่น วันที่ 30 เม.ย. 2526 อุณหภูมิ 39.9 องศาเซลเซียส วันที่ 11 และ 20 เม.ย. 2529 อุณหภูมิ 39.8 องศาเซลเซียส และวันที่ 15 เม.ย. 2547 อุณหภูมิ 39.9 องศาเซลเซียส
          10 จว.ทะลุ 40 องศาเซลเซียส
          จากข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.ของทุกปีระหว่าง พ.ศ. 2549-2553 หรือช่วง 61 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงเดือน เม.ย.นั้น 1. จังหวัดอุตรดิตถ์ เคยมีอุณหภูมิร้อนสุด 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้อนสุดในรอบ 60 ปีตรงกับวันที่ 27 เม.ย. 2503 2.จังหวัดแม่ฮ่องสอน 44.1 องศาเซลเซียส วันที่ 25 เม.ย. 2501 3. จังหวัดตาก 44 องศาเซลเซียส วันที่ 25 เม.ย. 2550
          ส่วน 4. จังหวัดอุดรธานี 43.9 องศาเซลเซียส วันที่ 28 เม.ย. 2503 5.จังหวัดกาญจนบุรี 43.5 องศาเซลเซียส 29 เม.ย. 2501 วันที่ 14 เม.ย. 2506 และวันที่ 14 และ 20 เม.ย. 2535 อันดับ 6. จังหวัดหนองคาย 43.3 องศาเซลเซียส วันที่ 12 เม.ย. 2548 อันดับ 7. จังหวัดเลย 43.1 องศาเซลเซียส วันที่ 25 เม.ย. 2501 อันดับที่ 9 จังหวัดกำแพงเพชร 43 องศาเซลเซียส วันที่ 14 และ 16 เม.ย. 2526 อันดับที่ 10 จังหวัด ปราจีนบุรี 42.9 องศาเซลเซียส วันที่ 23 เม.ย. 2553
          ธรณีชี้ไฟไหม้จากก๊าซมีเทน
          นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึง กรณีที่ชาวบ้าน ม. 9 ต. หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก แตกตื่นกับปรากฏการณ์พื้นดินร้อนระอุ อุณหภูมิสูงอย่างมาก และมีควันไฟพวยพุ่งจากใต้ดินขึ้นมาตลอดเวลา ว่า ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าไปตรวจสอบ และขุดเจาะหลุมจำนวน 6 จุด เพื่อสำรวจสภาพธรณีวิทยาใกล้กับจุดเกิดเหตุแล้ว สรุปว่าความร้อนดังกล่าวมาจากก๊าซมีเทน ที่เป็นก๊าซที่ติดไฟได้ง่าย
          เนื่องจากใต้พื้นดินมีขี้เลื่อยความหนาตั้งแต่ 2-20 เมตร กว้างประมาณ 40x 15 เมตร และถูกปิดทับด้วยตะกอนดินเหนียวหนา 20 เซนติเมตร ที่สะสมจากน้ำที่พัดเข้าท่วมบริเวณกองขี้เลื่อยดังกล่าว จนกระทั่งมีการพัฒนาพื้นที่ตอกเสาเข็ม ทำให้ก๊าซมีเทนรั่วออกมาและติดไฟลุกลามไปยังใต้ดินคล้ายกับการเผาถ่าน คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน
          สธ.หวั่นผู้ป่วยอากาศร้อนเพิ่ม
          นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ มีการรายงานผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะอากาศร้อนเข้ามาเป็นรายๆ ยังไม่ได้สรุปตัวเลขเป็นภาพรวมทั้งหมด รวมไปถึงจำนวนผู้เสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ามายังโรงพยาบาลด้วยผลกระทบอากาศร้อนจะมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางครั้งแพทย์ผู้ให้การรักษาก็สรุปเป็นสาเหตุอื่น
          แต่ทั้งนี้ ผลกระทบจากภาวะอากาศร้อนที่เกิดขึ้น มีทั้งด้านผิวหนังที่เกิดอาการผื่นคันจากภาวะต่อมเหงื่ออักเสบ การเป็นตะคริว โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ออกกำลังกาย และผู้ที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ การเป็นลมเนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ส่งผลต่อเส้นเลือด และเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีรายงานการเสียชีวิตที่ชัดเจน คือ ที่จังหวัดลำปาง และกรณีพระสงฆ์ที่ลงไปแช่น้ำเพื่อคลายความร้อน แต่เกิดเป็นตะคริวทำให้เสียชีวิต
          บ้านเราขณะนี้ ยังเป็นการรายงานผู้ป่วยเกิดจากภาวะอากาศร้อนชัดเจน เฉลี่ยปี 2552-2553 อยู่ที่ 100 ราย ส่วนปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 100 ราย สำหรับในปี 2555 นี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวม แต่คาดว่าไม่ต่ำกว่าร้อยราย ส่วนกรณีการเสียชีวิตจากโรคฮีสโตรกจริงๆ ยังไม่มีการรายงานภาพรวมที่ชัดเจน


pageview  1205143    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved