HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 17/07/2560 ]
จุฬาฯคิดค้น'เกม'ต้านโรคอัลไซเมอร์


          ฝึกควบคุมความคิดและการทำสมาธิ ยับยั้งโรคสมองเสื่อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ หวังภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมต่อยอดเชิงพาณิชย์
          แพทย์หญิงโสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา "เกมคลื่นสมอง" ซึ่งประกอบด้วย 6 เกม ที่มีลักษณะการเล่นคล้ายกัน ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการฟื้นฟูระดับ ความรู้คิดด้วยคลื่นสมองแบบป้อนกลับสำหรับผู้สูงอายุ เป้าหมายเพื่อการป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์
          ที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกสมองในโรงพยาบาลจุฬาฯ นำเกมดังกล่าวไปใช้กับคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม แต่จำนวนอุปกรณ์มีจำกัด จึงไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ดังนั้น หากมีผู้ประกอบการสนใจพัฒนาอุปกรณ์รับคลื่นสมองและเกมในรูปแบบที่สามารถต่อยอด เชิงพาณิชย์ในตลาดเกม หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม จะทำให้กลุ่มเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้มากขึ้น ทั้งยังนำไปใช้ฝึกในบ้านได้ด้วยตนเอง และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอีกด้วย
          แนวคิดการออกแบบเกมคลื่นสมองนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถของสมาธิการจดจ่อและคงสภาพการจดจ่อให้ได้นานขึ้น รวมถึงความจำช่วงปฏิบัติงานโดยใช้สัญญาณจากคลื่นสมองเบต้าและอัลฟ่าจากอุปกรณ์รับที่ผู้ใช้สวมไว้ที่ศีรษะ และขยายสัญญาณก่อนคำนวณระดับ ความจดจ่อ จากนั้นแสดงค่าผ่านโปรแกรมเกมทำให้ทราบถึงระดับสมาธิการจดจ่อและพยายามรักษาสภาวะจดจ่อ ตลอดการเล่นเกม เมื่อฝึกในได้ระดับหนึ่งแล้วจะสามารถควบคุมจัดการสมาธิได้ดีขึ้น
          จากการทดสอบระบบกับผู้สูงอายุ ที่มีความรู้คิดบกพร่องระยะแรกและผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น พบว่า สามารถเพิ่มอัตราส่วนของคลื่นสมอง ที่สัมพันธ์กับความสามารถของความจำ และความสามารถของสมองดีขึ้นชัดเจน ทั้งยังพบว่าถ้าผู้เล่นมีสมาธิดี ก็จะเล่นเกมได้ แต่ถ้าสมาธิไม่ดีก็เล่นไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เกมชู้ตลูกบาสพัฒนาขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อผู้เล่น ไม่มีสมาธิก็จะไม่สามารถชู้ตลูกบาสเข้าแป้น หรือเกมหมีเก็บเหรียญถ้า ผู้เล่นไม่มีสมาธิ คลื่นสมองก็จะไม่ สามารถบังคับให้หมีเดินไปเก็บเหรียญ แต่หากมีสมาธิดีก็จะทำให้หมีวิ่งได้เร็ว ซึ่งทั้งหมดบังคับด้วยคลื่นสมองของ ผู้เล่นที่ส่งผ่านตัวรับสัญญาณที่สวมไว้บนศีรษะ
          "ผู้เล่นต้องสวมหมวกซึ่งเป็นอุปกรณ์รับคลื่นสมองของผู้เล่นเพื่อ ใช้บังคับเกม ซึ่งจะเห็นเกมอยู่ข้างหน้าในจอคอมพิวเตอร์ก็จะรู้ได้ว่ามีสมาธิหรือไม่ ถ้าไม่มีตัวเกมก็จะไม่เคลื่อนไหว จึงต้องพยายามปรับการจดจ่อให้มีสมาธิ" แพทย์หญิงโสฬพัทธ์ กล่าว
          จากผลการวิจัยมากมายที่พบว่าการใช้เกมรักษานั้นประสบความสำเร็จในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง และหวังว่าในอนาคตนั้นจะมีการใช้เกมรักษาโรคต่างๆ ให้แพร่หลายและมีความหลากหลายยิ่งขึ้นในราคาที่ถูกลง ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีฐานะสามารถเอื้อมถึงได้


pageview  1204990    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved