HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 03/03/2560 ]
แชร์ประสบการณ์'มะเร็งลำไส้ใหญ่'

 อาการผิดปกติที่พบมีเพียงถ่ายมีเลือดปนเท่านั้นแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันน้ำหนักก็ไม่ลด
          ในงานเสวนาวันมะเร็งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลลำปาง  ได้เปิดเวทีให้อดีตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่แบ่งปันประสบการณ์เพื่อสะกิดใจผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงรวมทั้งใส่ใจสัญญาณเตือนจากร่างกาย
          "อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นคือ อุจจาระมีเลือดปนออกมาไม่มาก 2-3 ครั้งต่อเดือน เป็นอยู่ 1-2 วันก็หายไป ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน เว้นช่วงไป 10-14 วันก็กลับมาเป็นอีกครั้ง เป็นแบบนี้หลายเดือน คิดแต่ว่าน่าจะเป็นริดสีดวง ไม่เคยคิดไปไกลถึงมะเร็ง"  คุณหญิง อดีตผู้ป่วยอายุ 30 ต้นๆ กล่าว เหตุที่ไม่ฉุกคิดถึงมะเร็งเพราะว่า เธอไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ทั้งไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง อายุก็ยังน้อย ไม่ได้ถ่ายเป็นมูกเลือด ไม่รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่ปวดท้อง ไม่มีปัญหาท้องอืดเฟ้อและที่สำคัญคือ  น้ำหนักไม่ลด สวนทางกับข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงที่รับทราบว่า น้ำหนักต้องลด อายุมากและเคยมีประวัติในครอบครัว เป็นต้น กระทั่งวันหนึ่งทนเสียงรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหว จึงข่มความอายตัดสินใจเข้า รับการตรวจส่องกล้อง ผลก็เป็นไปตามคาดคือ ริดสีดวงทวาร แต่เธอขอให้คุณหมอตรวจเพิ่มไปถึงมะเร็งลำไส้ เพราะเพื่อน ร่วมงานมีอาการผิดปกติเช่นเดียวกันและตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง "ผลการสวนแป้งและส่องกล้องดูระบบขับถ่ายก็พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากนั้น ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาคือ การผ่าตัดและฉายแสง ตอนนี้ก็พบหมอตรวจติดตามอาการปีละครั้ง"
          เมื่อถามถึงพฤติกรรมการกินอยู่ พบว่า เมนูปิ้งย่างคือที่สุดแห่งความโปรด โดยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจะต้องมีรายการหมู/ เนื้อกระทะ เธอไม่กินผักและดื่มน้ำน้อย  การงานมีเครียดบ้างเล็กน้อย สอดคล้อง กับข้อมูลกรมอนามัยที่เตือนประชาชน กินอาหารปิ้ง ย่างหรืออาหารประเภท รมควันไหม้เกรียมเป็นประจำ เสี่ยงได้รับสารอันตราย 3 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
          นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า สารอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ "สารไนโตรซามีน" พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่างและในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ  มะเร็งหลอดอาหาร
          "สารพัยโรลัยเซต" พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร ปิ้ง ย่าง สารกลุ่มนี้ บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า และ "สารพีเอเอช" หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม  สารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควัน ของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน  ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง  ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอช ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง หากรับประทานเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ
          คุณหมอแนะนำว่า หากทำการปิ้งย่าง รับประทานเอง ควรเลือกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วนหรือที่มีไขมันติดน้อยอยู่ที่สุด หรือควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไป เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน ที่สำคัญควรใช้ใบตองห่ออาหารก่อนจะทำการปิ้งย่าง เพื่อลดปริมาณไขมันจากอาหารที่หยดลงไปบนถ่าน อีกทั้งจะทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตอง และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด
          ทั้งนี้ ลำไส้ใหญ่เป็นส่วนล่างของระบบทางเดินอาหารติดต่อโดยตรงกับลำไส้เล็กและส่วนปลายสุดคือทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้ทั้งชายและหญิงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะวัยกลางคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยรวมกันทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ด้านพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น กินเนื้อสัตว์มาก กินอาหารที่มีไขมันสูง และกินผักผลไม้ที่มีกากใยน้อยเป็นประจำ เป็นต้น
          ส่วนปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น โรคบางอย่างของลำไส้ใหญ่ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือติ่งเนื้องอกในลำไส้บางชนิดที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ หรืออาจมีแค่อาการปวดท้อง แน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร  และเมื่อเป็นในระยะที่มากขึ้นอาจมี การเปลี่ยนแปลงนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระทั้งจำนวนครั้งและลักษณะของอุจจาระที่ออกมา มีเลือดและมูกออกทางทวารหนัก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ซีด หรือโลหิตจาง  โดยไม่ทราบสาเหตุ คลำก้อนได้บริเวณท้อง และมีการอุดตันของลำไส้ใหญ่  หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่าง ถูกต้อง การตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้
          อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักควรเริ่มตั้งแต่เด็ก โดยผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลาทะเล ผักผลไม้ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ธัญพืชประเภทข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ลูกเดือย ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุดจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
          นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงทานของทอด มัน เค็ม หวาน ปิ้ง ย่าง หมักดอง รวมถึงอาหารที่ถนอมด้วยเกลือและดินประสิว  ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ออกกำลังกายเป็นประจำทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ก็จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรวมถึง โรคต่างๆ ได้อีกด้วย


pageview  1205083    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved