HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 05/04/2555 ]
คอลัมน์ จับกระแส: วัณโรคช้าง เตือนก่อนตาย

หลังข่าวการตายของ พังศรีทอง 1 ในช้าง 19 เชือก สัตว์ของกลางในคดีปางช้างไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งเพิ่งเคลียร์กันชัดเจนจากผลการผ่าชันสูตรซาก จากสถาบันการศึกษา และกรมปศุสัตว์ ที่ระบุตรงกันว่าช้างเชือกนี้ตายจากเชื้อบาดทะยัก
          แต่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดกลับเป็นช้างอีก 8 เชือกจากปางช้างแห่งเดียวกัน ที่มีความเสี่ยงจากโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ หรือ วัณโรคช้าง นั่นเอง หลังจากผลตรวจหาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ด้วยชุดตรวจเร็ว พบว่ามี 8 เชือก ให้ผลบวก ซึ่งอยู่ในข่ายสงสัย ต้องกักโรค ดูอาการ และต้องตรวจซ้ำ ในระยะ 60 วัน และมี 1 เชือก ที่ยืนยันว่าติดเชื้อแน่นอน นอกจากนี้ยังมีช้างที่เม็ดเลือดขาวสูงกว่าค่าปกติ ถึง 8 เชือกถือเป็นอีกครั้งที่ สัตวแพทย์ที่ทำงานด้านช้าง ปริปากเตือนเรื่องความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ วัณโรคช้าง สู่คน
          แม้ว่าที่ผ่านมาเราเคยจะได้ยินข่าวทำนองนี้มาหลายหน แต่ดูเหมือนว่าเสียงยังไม่ดังพอ จนสามารถทำให้ผู้ในสังคมหันกลับมามองถึงความความปลอดภัย และความเสี่ยงที่จะเจอโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
          ก่อนหน้านี้เรามักจะเห็นปางช้างท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่ง ที่มักเป็นจุดนิยมของนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งใน จ.พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ต่างก็นำเอาลูกช้าง แม่ช้างออกมาพ่นน้ำใส่นักท่องเที่ยว สร้างจุดขาย กันอย่างสนุกสนาน
          น่าเป็นห่วงว่าคนส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าละอองน้ำจาก งวงช้าง ที่พ่นออกมานั้น มีเชื้อวัณโรค ปะปนออกมาด้วยหรือไม่ เนื่องจากเยื่อเมือก น้ำลายและเสมหะ ที่ออกมาทางงวง และหลอดลมของช้างโดยตรง หากคนที่รับละอองน้ำมีร่างกายอ่อนแออยู่แล้วก็เป็นห่วง
          ในช้างเลี้ยงพบการติดโรควัณโรคสูงขึ้น 30% โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกับวัณโรคที่เกิดขึ้นกับคน และติดจากคนสู่ช้าง และช้างสู่คน และช้างกับช้างได้ โดยเฉพาะปางช้างในพื้นที่กันชน ที่พบว่าส่วนใหญ่คนเลี้ยงจะเป็นคน 2 สัญชาติที่อาจนำเชื้อมาสู่ช้างได้โดยตรง ที่สำคัญการรักษาก็แพง และยุ่งยากกว่าที่จะวินิจฉัยว่าช้างป่วย ดังนั้นกว่าช้างจะแสดงอาการก็ผ่านไปเป็นปีๆ นสพ.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงความเสี่ยง
          อาการของช้างที่ป่วย และติดเชื้อโรคนี้ จะไม่แสดงอาการในช่วง 1-2 ปี แต่จากนั้นพวกมันจะเริ่มมีร่างกายซูบผอม ไม่มีแรง เบื่ออาหาร มีน้ำมูกหรือของเหลวออกจากงวง ซึ่งในไทยเคยมีช้างตายจากโรคนี้หลายเชือกแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถเลี่ยงได้ว่า ทั้งควาญช้างที่ต้องดูแลช้าง และนักท่องเที่ยวก็มีความเสี่ยงต่อโรคนี้พอๆ กัน
          นายวรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ยอมรับว่ากรณีการออกมาเตือนถึงผลตรวจสุขภาพช้างในปางช้างของ จ.กาญจนบุรี ครั้งนี้ อาจกระเทือนถึงการท่องเที่ยว แต่ความจริงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผย
          ยิ่งใกล้วันสงกรานต์ปีนี้ เราคาดหวังว่าจะไม่เห็นกิจกรรมการนำเอาช้าง มาพ่นน้ำ เพราะนั่นหมายถึงทุกคนก็มีโอกาสรับเชื้อวัณโรคช้าง โดยไม่รู้ตัว....
          ในช้างเลี้ยงพบการติดโรควัณโรคสูงขึ้น 30% โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคน


pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved