HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 22/01/2557 ]
อาการเสพติดชนิดใหม่.....เสพติดหน้าจอ
 รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   pasu@acc.chula.ac.th
 
          ท่านผู้อ่านเป็นอาการเสพติดหน้าจอ หรือ Screen Addiction หรือเปล่าครับ? ท่การเสพติดหน้าจอ เป็นอาการของคนกลุ่มหนึ่งที่จะดำเนินชีวิตโดยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ จอ Tablet หรือ จอมือถือ และผู้ที่มีอาการเสพติดหน้าจอนั้น จะประสบความยากลำบากในการพาตัวเองออกมาจากหน้าจอต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะมีเวลาว่างหรือในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอย่างอื่นอยู่ก็มักจะถูกดึงดูดสมาธิไปหาหน้าจอต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
          นิยามข้างต้นของอาการเสพติดหน้าจอ ไม่ได้เป็นนิยามทางการแพทย์หรือนิยามอย่างเป็นทางการขององค์กรไหนหรอกนะครับ แต่เป็นข้อสังเกตที่ผมพบในกลุ่มคนที่มีอาการเสพติดหน้าจอ คนที่มีอาการเหล่านี้มักจะแสดงออกตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาที่คว้าโทรศัพท์มือถือหรือ Tablet เป็นสิ่งแรกในตอนเช้า เมื่อเช็คข้อความหรือข่าวต่างๆ จากนั้นเมื่อเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวไปด้วยก็จะคว้าอุปกรณ์เหล่านั้นเข้าไปเป็นเพื่อนแก้เหงา ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารเช้าก็จะดูหน้าจอเหล่านั้นเป็นเพื่อนยามเช้า เมื่อเดินทางไปทำงานหรือไปโรงเรียน ถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เราก็จะพบเห็นคนเกือบครึ่งรถไฟฟ้าที่ก้มหน้ามองหน้าจอเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข่าว เล่นเกม คุยกับผู้อื่นอยู่ เมื่อมาถึงที่ทำงานหรือโรงเรียน ก็จะเปิดจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็มีจอมือถือเล็กๆ วางอยู่ข้างๆ เพื่อคอยตรวจสอบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของผู้อื่น หรือ เพื่อคอยคุยผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ แม้กระทั่งในขณะที่นั่งประชุมก็จะคอยมองหน้าจอเล็กๆ เหล่านี้ไปด้วย หรือ บางท่านก็นำคอมพิวเตอร์ไปทำงานอย่างอื่นขณะนั่งประชุม
          พอตกเย็นถ้ายังไม่กลับบ้าน แต่แวะไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งก็ต้องถ่ายรูปอาหารก่อน หลังจากนั้นเพื่อนทั้งกลุ่มก็ต่างคนต่างนั่งก้มหน้ามองหน้าจอของตัวเอง (ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะนัดมาก้มหน้ามองจอกันทำไม?) บางท่านไปออกกำลังกาย ขณะที่วิ่งหรือเล่นเครื่องบางประเภทก็จะมีจอเล็กๆ วางอยู่ข้างหน้า เพื่อไม่ให้เบื่อ หรือ ช่วงนี้หลายท่านก็จะไปร่วมชุมนุม ก็จะสังเกตเห็นว่านอกจากฟังแกนนำหรือการแสดงบนเวที
          แล้ว ผู้ชุมนุมจำนวนมากก็จะก้มมองมือถือของตัวเอง ไม่ว่าเพื่ออัพโหลดรูปตัวเองขึ้น หรือ คุยกับผู้อื่นทางสื่อออนไลน์ สุดท้ายก่อนนอนก็จะมองหน้าจอเหล่านั้นเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนจะปิดไฟ (บางคนปิดไฟแล้วยังมองจอก็มี) สรุปเรียกได้ว่าในกิจวัตรประจำวันของเรานั้น หนีไม่พ้นหน้าจอต่างๆ และยิ่งเราไม่สามารถพาตัวเองหรือดึงตัวเองออกจากหน้าจอเหล่านั้นได้ ยิ่งทำให้เราถลำลึกไปในอาการเสพติดหน้าจอมากขึ้นทุกขณะ
          ในต่างประเทศนั้นเขาเริ่มให้ความสนใจกับอาการนี้กันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับบรรดาเด็กหรือวัยรุ่นกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในประเทศไทยนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เริ่มมีอาการนี้มากขึ้นทุกขณะ
          ข้อดีของหน้าจอหรือ Screens เหล่านี้ก็มีเยอะนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของสถานการณ์ต่างๆ เช่นในปัจจุบัน ที่หลายท่านจะต้องคอย update ข่าวต่างๆ ตลอดเวลา และหลายท่านก็จะเชื่อถือข่าวที่ปรากฏใน Line หรือ Facebook มากกว่าผ่านทางสื่อหลักเหมือนในอดีต
          อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังก็มีมากครับ ทั้งในด้านสังคม ที่จะทำให้เราขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ลองไปตามร้านอาหารแล้วเราจะพบเพื่อนหรือครอบครัวที่มารับประทานอาหารด้วยกันแล้วต่างคนก็ต่างก้มหน้ามองจอของตัวเอง ทำให้ทุกคนเหมือนกับอยู่ในโลกส่วนตัวไม่สนใจคนรอบข้างหรือเพื่อนๆ ในขณะเดียวกันจอเล็กๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดึงดูดสมาธิของเราอย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานหรือในที่ประชุม ถ้าท่านอดไม่ได้ที่จะมองจอเล็กๆ ของโทรศัพท์มือถือทุกครั้งที่มีอะไรแสดงขึ้นที่หน้าจอ ทำให้สมาธิในการทำงานหรือการรับฟังต่อความเห็นในที่ประชุมลดลง
          นอกจากนี้ผมยังเคยพบเจอเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ในขณะที่กำลังคุยกับผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่กำลังพูดอยู่ ก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเหลือบไปมองจอเล็กๆ เสมอ และถ้ามีใครส่งอะไรมาให้ ก็อดไม่ได้อีกที่จะยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตอบในทันทีทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่กำลังคุยด้วยอยู่ ซึ่งเราก็ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างรุนแรง
          นอกจากปัญหาทางสังคมข้างต้นแล้ว ในเรื่องของการพัฒนาของสมองก็มีผลเช่นเดียวกันครับ มีงานค้นคว้าที่แสดงให้เห็นว่าสมองเราต้องการความหลากหลาย หรือ Diversity ของกิจกรรมที่ทำ เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นการคิดในสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ดังนั้น ถ้าทั้งวันเราอยู่แต่กับหน้าจอโดยไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างอื่น ก็จะไม่ได้เพิ่มความหลากหลายให้กับสมองเรา และไม่ได้ช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของสมอง
          สุดท้ายก็เป็นเรื่องของปัญหาด้านสุขภาพครับ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดนิ้ว และที่สำคัญคืออาการทางสายตาครับ ที่เขามีโรคอย่างเป็นทางการเรียกว่า Computer Vision Syndrome ที่เกิดขึ้นจากการเพ่งมองจอมากเกินไป
          ดังนั้น จึงขอฝากท่านผู้อ่านนะครับว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น และทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ก็ต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นนะครับ ระหว่างสิ่งที่เป็นเทคโนโลยี กับ ไม่ใช่เทคโนโลยี เหมือนที่เขาเรียกว่า techno-balanced ครับ

pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved