HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 27/02/2555 ]
ไอเรื้อรัง...ต้องหาสาเหตุ
              แพทย์หญิงพัณณิดา วัฒนพนม อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า อาการไอเรื้อรังไม่ใช่โรค แต่เป็นกลไกของร่างกายในการกำจัดเสมหะและสิ่งแปลกปลอมจากคอและทางเดินหายใจ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีไม่เกิน 3 สัปดาห์ก็หายได้ แต่หากไอนานกว่านั้น ซึ่งมักจะเป็นผลของโรค หรือความผิดปกติบางอย่างที่เกิดจากตัวผู้ป่วย วิธีที่จะทำให้หายขาดได้เร็ว จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นที่ร้ายแรงและรอการรักษาอยู่ก็ได้ 
          อาการไอเรื้อรังทั่วๆ ไปถือว่าไอเป็นเวลาติดต่อกันนานไม่น้อยกว่า 3 อาทิตย์ สาเหตุของการไอเรื้อรังนั้นอาจจะเป็นจากโรคที่ไม่รุนแรงก็ได้ เช่นอาการไอเรื้อรังหลังจากการที่เป็นไข้หวัดตามที่กล่าวมา หรืออาจจะเป็นอาการของโรคที่รุนแรง เช่น วัณโรคปอด หรือมะเร็งของปอดเป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง ไม่ควรที่จะปล่อยปละละเลย ควรหาสาเหตุว่าไอจากอะไรก่อนที่จะเป็นการสายเกินไป 
          แต่โดยทั่วไปอาการไอเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโรคของระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยสุดคือ Post Natal Drip ซึ่งเป็นอาการน้ำมูกหรือเสมหะไหลลงคอ จะพบในคนที่เป็นหวัด ภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบ และที่รองลงไปคือ โรคหอบหืด 
          การไอไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคระบบทางเดินหายใจเท่านั้น โรคกรดไหลย้อยก็เป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง และเพราะร่างกายต้องการกำจัดของเสียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจ จึงแสดงออกในรูปของอาการไอตามมานั่นเอง ซึ่งคนไข้ที่เป็นกรดไหลย้อนอาจไม่รู้ตัวเองก็ได้ 
          อาการเบื้องต้นของคนที่มีอาการไอ จะมีทั้งแบบอาการไอแห้ง และไอมีเสมหะ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ปวดศีรษะ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ และผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนอาจมีอาการเจ็บ แสบ บริเวณลิ้นปี่ร่วมด้วย 
          ผู้ที่ไอมากๆ และไอนานๆ อาจเกิดอาการเหนื่อยหมดแรง ซึ่งพบได้ในราว 57% ในผู้ป่วยที่ไอมาก, นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอ 45%, เจ็บหน้าอก 45%, เสียงแหบ 43%, เหงื่อออก 42%และปัสสาวะเล็ด 33% 
          คุณหมอมีคำแนะนำสำหรับการรักษาอาการไอ จะต้องรักษาสาเหตุของโรคที่เป็นถึงจะหายขาด เช่น การใช้ยาฆ่าเชื้อ การใช้ยาลดบวมของเยื่อจมูกสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ หรือการให้ยาลดกรดในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน เพียงเท่านี้ก็จะหายจากอาการไอเรื้อรังที่น่ารำคาญได้แล้ว 
          การดูแลตัวเองในผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง ควรจะจิบดื่มน้ำอุ่นให้บ่อย เพื่อช่วยละลายเสมหะในคอ งดสูบบุหรี่หรือเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ การดื่มชาร้อนผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำขิงร้อน ก็ช่วยบรรเทาอาการไอได้เป็นอย่างดี การพักผ่อนและการงดใช้เสียงก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ถ้าผู้ป่วยยังพูดมากอาการไอจะไม่ทุเลา 
          ที่ผ่านมา หลายคนมักมีความเชื่อกันว่า ผู้ป่วยที่มีอาการไอควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด คุณหมอขยายความว่า ความเชื่อนี้ไม่มีผิดซะทีเดียว ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน อาหารทอดจะทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงอาการไอ แต่สำหรับอาการไอเรื้อรังที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ไม่มีอาหารอะไรที่ต้องห้าม จึงสามารถกินทุกเมนูได้ปกติ 
          การป้องกันอาการไอโดยตรงในตอนนี้ยังไม่มี แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดสูบบุหรี่ ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งอายุรแพทย์ กล่าวและว่า สำหรับคนที่มีอาการไอเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า เป็นเพราะเขาสูบบุหรี่ หรือเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน วิธีแก้จึงต้องเริ่มที่งดสูบ และหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เพียงเท่านี้ก็ห่างจากอาการไอเรื้อรังได้แล้ว 
          ทั้งนี้ การไอเรื้อรัง แม้จะไม่ใช่โรค แต่มักเกิดจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง ที่ร่างกายคนคนนั้นเป็น ผู้ที่พบว่าตัวเองมีอาการไอเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโรค และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป 
          อาการไอ สัญญาณที่บ่งยอกถึงความผิดปกติของร่างกายนอกจากอาการหวัดและภูมิแพ้แล้วยังมีโรคร้ายอื่น ๆ ที่แฝงมากับเสียงแค่ก ๆ

pageview  1204939    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved