HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 29/10/2556 ]
เปลี่ยนทัศนคติสู้"เอชไอวี"สร้างคุณค่าตามวิถีมุสลิม

 

 หากเอ่ยถึงผู้ติดเชื้อภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี มักถูกสังคมมองไปในทางลบและน่าหวาดวิตก แต่ความจริงแล้วผู้ติดเชื้อเหล่านั้น สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเช่นคนทั่วไป  สำหรับผู้ติดเชื้อเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การปรับสภาพจิตใจให้ยอมรับกับสถานการณ์ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่ยุ่งยากไปกว่านั้นก็คือการที่บุคคลผู้ยึดมั่นในคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัดมาตลอด กลับต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่คาดคิดมาก่อน
          "ทันทีที่รู้ผลเลือดรู้สึกจิตตก ทำอะไรไม่ถูก กังวลสับสนกับทุกอย่างในชีวิตที่จะดำเนินต่อจากนี้ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวคือตายๆ ไปให้มันรู้แล้วรู้รอดไปดีกว่า อยู่ไปก็เป็นขี้ปากให้ชาวบ้าน" นี่คือคำสารภาพของ"  หญิงมุสลิม วัย 39 ปี" ใน อ.ละงู จ.สตูล รายหนึ่งบอกความรู้สึกในวินาทีแรกที่รู้ว่าตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีมาจากสามี ตั้งแต่ปี 2549
          เธอเล่าว่า ตอนนั้นสภาพร่างกายย่ำแย่ ไม่ต่างจากสภาพจิตใจ จึงเก็บตัวเงียบ งานการก็ไม่ได้ทำ จากที่เคยเป็นแม่ค้าขายข้าวต้มทุกเช้า ก็ไม่ไปขาย เพราะกลัวคนอื่นจะรู้ แม้จะไปละหมาดที่มัสยิดก็ไม่อยากไป เพราะคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นคนบาป  ที่ต้องติดเชื้อโรคร้ายกลัวถูกรังเกียจจากสังคม
          "ขณะนั้นมีแผลขึ้นตามตัว ญาติพี่น้องถามก็โกหกไปว่าแพ้ยุง จนอาการเริ่มหนักขึ้น จึงยอมรับความจริงกับคนในครอบครัวว่าเป็นเอดส์ นั่นยิ่งทำให้เสียใจมากที่สุดเพราะน้องๆ ที่เคยนอนบ้านเดียวกัน ต่างทยอยย้ายหนีไปนอนที่อื่นกันหมด" หญิงมุสลิม สะท้อนความรู้สึก
          ในช่วงนั้น เธอ ยอมรับว่าสภาพจิตใจย่ำแย่ เคยคิดฆ่าตัวตาย หลายครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้ยืนหยัดสู้อยู่ต่อไปคือลูก นอกจากนี้คำสอนของพ่อที่เคยบอกว่า "ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานะยากลำบากอย่างไร มีปัญหาแค่ไหน มุสลิมทุกคนก็ยังมีพระเจ้าอยู่ในหัวใจ เพียงแค่ขอให้ทำความดี"  เป็นสิ่งเตือนสติและกำลังใจสำคัญที่ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าให้ได้ ไม่เพียงแต่กำลังใจที่ทำให้หญิงมุสลิม คนนี้มีแรงที่จะใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไป แต่ข้อคิด แนวทางการดำเนินชีวิตที่ได้รับจาการีม เก็บกาเม็น ประธานศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อ เอชไอวีในชุมชน อ.ละงู จ.สตูล ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เธอสู้ต่อไปเช่นกัน
          การีม ให้ข้อคิดแก่ผู้ติดเชื้อว่าที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอยู่อย่างมีค่า และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง แม้จะยอมรับว่า สังคม สภาพแวดล้อมรอบข้างผู้ติดเชื้อเอชไอวียังติดภาพความคิดเดิม อย่าง ผู้นำศาสนา บางคนที่คิดว่า การติดเชื้อเพราะสำส่อน เป็นการตีตราผู้ติดเชื้อไปในตัว สิ่งที่ทำได้คือการสร้างความเข้าใจว่าเอดส์ ไม่ใช่ติดกันง่าย ผู้ติดเชื่อสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ ไม่ต่างจากการเข้าถึงหลักศาสนาที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้เช่นเดียวกับคนปกติ "ตัวเองต้องตั้งคำถามว่าที่ต้องติดเชื้อ ยังสามารถทำงานได้หรือไม่ ยังเป็นคนอยู่มั้ย ถ้ายังเป็นคนปกติ ก็ยังทำละหมาดได้ ยังใกล้ชิดพระเจ้าได้ไม่ต่างจากคนอื่น ซึ่งคนที่เป็นเอดส์ก็ไม่ใช่คนเลว เพราะเอดส์เป็นกันได้ทุกคน ถ้าไม่ระวังป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยง เพียงแค่นี้ก็สร้างความเข้าใจให้กับทุกคนได้เปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อมีพื้นที่ยืนในสังคมแล้ว" การีม อธิบาย
          สิ่งหนึ่งที่ ประธานศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อ เอชไอวีในชุมชน อ.ละงู ย้ำเตือนผู้ติดเชื้ออยู่เสมอคือ การสำนึกผิดต่อพระเจ้า หรือ "เกาะบ๊ะห์" เพราะทุกคนที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะผิดมาก ผิดน้อย หากสำนึกผิดคุณค่าในตัวเองของทุกคนก็จะเท่าเทียมกัน เพียงแต่ทำความดี เมื่อผู้ติดเชื้อเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นความรู้สึกปิดกั้นตัวเองก็จะค่อยๆ หมดไป  หลายคนจึงเริ่มเปิดตัวมากขึ้น เริ่มกลับมามีชีวิตในชุมชนเหมือนเดิม ขณะที่องค์ความรู้เรื่องเอดส์ยังสร้างความตระหนักให้กับสังคมมุสลิมได้อีกด้วย
          "ผู้ชายมุสลิมมีเมียได้ถึง 4 คน อย่างนี้ถ้าไม่มีองค์ความรู้เรื่องเอดส์ถือว่าเสี่ยงอย่างมาก บอกได้เลยว่าตอนนี้ เอชไอวีสามารถเข้าถึงได้กับทุกคน นั่นยิ่งทำให้คนมุสลิมที่จะแต่งงานต้องให้ความสำคัญกับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีก่อน " การีม เน้นย้ำ แนวทางการสร้างทักษะชีวิตในคนมุสลิม เป็นหนึ่งใน  9 รูปแบบนวัตกรรม "คัมภีร์วิถีเพศ" ซึ่งนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวิชาการมาตรฐานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเอดส์ กองทุนโลก  บอกว่า เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และทำงานด้านเอดส์ แม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อจะเข้าถึงการให้ บริการในระบบสาธารณสุขมากขึ้น แต่ ที่น่าเป็นห่วงคือพฤติกรรมเสี่ยงกลับเพิ่มมากขึ้น
          นายแพทย์วิพุธ เห็นว่ากลุ่มเยาวชนในต่างจังหวัด เยาวชนในชุมชนแออัด กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังขาดความเข้าใจในการป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี การกำหนดคัมภีร์วิถีเพศ เพื่อนำมาเป็นแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงมีความจำเป็น โดยคาดหวังให้ผู้ปฏิบัติงาน นำนวัตกรรมตัวต่างๆ ไปปรับใช้ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ สอดคล้องกับความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งเป้าให้ภายในปี 2559 ประเทศไทยต้องไม่มีผู้ติดเชื้อ รายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ และไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ
          นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การมีนวัตกรรมใหม่เพื่อลดอัตราเสี่ยงผู้ติดเชื้อมีความสำคัญ แม้การสร้างความตระหนักเรื่องการป้องกันเอดส์จะไม่ใช้เรื่องง่าย จากพฤติกรรมเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงพร้อมผลักดันแนวคิด "คัมภีร์วิถีเพศ" ขยายไปสู่ท้องถิ่นผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้เป็นหน่วยงานปลายทางที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          นี่จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในการสร้างความเข้มแข็ง ป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
 
          ถ้ายังเป็นคนปกติ ก็ยังทาละหมาดได้ ยังใกล้ชิดพระเจ้าได้  ไม่ต่างจากคนอื่น คนที่เป็นเอดส์ก็ไม่ใช่คนเลว เพราะเอดส์เป็นกันได้ทุกคน ถ้าไม่ระวังป้องกันตัวเอง จากปัจจัยเสี่ยง

pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved