HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 22/10/2556 ]
ปวดท้อง...อาการที่ไม่ควรมองข้าม

 

   ช่องท้องเป็นแหล่งรวมอวัยวะที่มีความสำคัญหลายชนิด ทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงน้ำดี ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ อาการปวดท้องไม่ว่าจะมากหรือน้อยจึงเป็นสัญญาณความเสี่ยง เตือนว่าร่างกายกำลังเกิดความ ผิดปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างที่เราไม่คาดคิดในภายหลัง
          หนึ่งในโรคเหล่านั้นคือ มะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อยเป็นลำดับสามใน เพศชาย และอันดับห้าในเพศหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ และยังมี แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไทยมีโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
          พญ.พอหทัย พิทักษ์พงศ์ศิริ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร และโรคตับ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่ามะเร็งเป็นโรคที่มีระยะเวลาการก่อโรคยาวนาน ใช้เวลาหลายปี กว่าจะปรากฏอาการผิดปกติ ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปีแม้ว่าจะแข็งแรงอยู่แล้วหรือไม่เคยเจ็บป่วยเลยก็ตาม เพราะจะช่วยให้เรารู้สถานะสุขภาพของตนเอง และเฝ้าระวังความผิด ปกติ พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
          ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มี ไขมันมากเกินไป และทานผักผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารน้อยทำให้เกิดอาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน มีประวัติเคยตรวจพบ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่หรือเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีคนในครอบครัวมีติ่งเนื้อหรือเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่มาก่อน มีภาวะลำไส้อักเสบ พบอาการปวดท้อง ท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีอาการซีดอ่อนเพลีย มีภาวะเลือดออกจากก้อนมะเร็ง คลำพบก้อนบริเวณหน้าท้อง ซึ่งบางรายหากก้อนมีขนาดใหญ่มากก็อาจพบอาการลำไส้อุดตันทำให้ท้องอืดมากไม่ถ่ายไม่ผายลม เป็นต้น
          พญ.พอหทัย แนะว่า การตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเหมาะสมสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 50-85 ปี ยกเว้นในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นก็ควรจะเข้ารับการตรวจคัดกรอง หาโรคแต่เนิ่นๆ แม้จะมีอายุไม่ถึง 50 ปีก็ตาม ขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล
          การแพทย์ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายแบบ วิธีเบื้องต้นง่ายๆ ที่ทำได้ทุกปีคือการตรวจเลือดที่แฝงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test) การตรวจหาดีเอ็นเอในอุจจาระแต่วิธีนี้ มีราคาสูงและไม่เป็นที่แพร่พลายนักเพราะยังไม่มีแนวทางการนำไปใช้ที่ชัดเจน การส่องกล้องซิกมอยด์ (Sigmoidoscopy) ตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลายซึ่งสามารถตัดติ่งเนื้อไปตรวจด้วยได้ แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถตรวจได้ตลอดความยาว ของลำไส้ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
          วิธีต่อมาคือการสวนแบเรียม (Double Contrast Barium Enema) แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมกันแล้ว การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT Colonoscopy) เป็นการเอ็กซเรย์ตัดภาพบริเวณลำตัวด้วยความละเอียดสูงแล้วนำมาประมวลเป็นภาพสามมิติ แต่มี ข้อด้อยคือหากติ่งเนื้อให้ลำไส้มีขนาดเล็กจะตรวจพบยาก และไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อได้ วิธีสุดท้ายคือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) แนะนำให้ตรวจทุกๆ 10 ปี มีข้อดีคือดูได้ตลอดความยาวลำไส้และสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้ แต่วิธีนี้มีราคาค่อนข้างสูง
          "ปวดท้องเป็นอาการที่ไม่ควรละเลย คิดเอาว่าเดี๋ยวก็หายไปเอง แต่ควรหมั่นสังเกตตำแหน่ง และอาการที่เป็น หากปวดถี่ และ ปวดมากก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที" พญ.พอหทัยย้ำ พร้อมทิ้งท้าย โดยให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการเช็คตำแหน่งอาการปวดท้องไว้ด้วยว่า
          "หากปวดท้องด้านบนฝั่งขวามีความเป็นไปได้ที่ท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน เกิดนิ่วในถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากปวดท้องด้านล่างฝั่งขวาอาจเป็นเพราะนิ่วในท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน หากปวดท้องด้านบนช่วงกลาง/ฝั่งซ้าย มีความเป็นไปได้ที่ตับอ่อนอักเสบหรือกระเพาะอาหารทะลุ หากปวดท้องด้านล่างช่วงกลาง/ฝั่งซ้าย ให้ระวังกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นนิ่วในท่อไต หรืออาจมีการอาการอักเสบติดเชื้อในมดลูก และรังไข่"
          หมั่นดูแลสุขภาพเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved