HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 18/09/2556 ]
ดูแลช่องปากอย่าให้ป่วย

 ปากดีเป็นศรีแก่ตัว ยิ่งสุขภาพช่องปากดี ยิ่งเป็นลาภอันประเสริฐ     แต่ถ้าพูดถึง มะเร็งช่องปาก น้อยคนนักที่จะทราบถึงสถิติผู้ป่วยของประชากรทั่วประเทศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า มะเร็งช่องปากจัดอยู่ในอันดับ 6 ของโรคมะเร็งที่ตรวจพบมากที่สุดในประเทศไทย
          เมื่อพูดถึงการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งช่องปาก หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า มะเร็งชนิดนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าดูจากสถิติที่ทำให้เกิดโรคจะพบว่าเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันด้วย นั่นคือ อันดับหนึ่งมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ถัดมาคือ การเคี้ยวหมากในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดื่มสุรา ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดมะเร็งช่องปากได้
          ที่ผ่านมาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากนอกจากจะต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายแล้วยังต้องประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันอันเนื่องจากจากความผิดปกติของใบหน้าที่เป็นผลกระทบจากมะเร็งช่องปาก โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเห็นถึงความสำคัญในการรักษา และความเอาใจใส่ต่อผู้ป่วย นำเสนอแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยได้รับคำแนะนำจาก นพ.ทพ.ดร.บวรคลองน้อย ทันตแพทย์เชี่ยวชาญพิเศษ ที่ปรึกษาของแผนกทันตกรรมของโรงพยาบาล 1 ในผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ศัลยกรรมช่องปาก และใบหน้าขากรรไกร หรือศัลยกรรมช่องปาก และแม๊กซิลโลเฟเชียล  (Oral and maxillofacial surgery) ซึ่งเป็นศัลยกรรมเฉพาะทางที่แก้ไขอาการที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรค การบาดเจ็บที่สามารถเชื่อมโยงความผิดปกติที่เกี่ยวกับศรีษะ คอ ใบหน้า ขากรรไกร และในประเด็นที่เกี่ยวกับมะเร็งช่องปาก
          สำหรับภาควิชาทันตกรรมศาสตร์ สาขาวิชาแมกซิลโลเฟเชียล เริ่มเป็นที่รู้จักมาหลายปีในวงการทันตกรรม และวงการแพทย์ โดยนพ.ทพ.ดร.บวร เป็นหนึ่งในทันตแพทย์ที่เลือกศึกษาศาสตร์นี้ เพราะมีจุดเปลี่ยนที่อยากจะเห็นผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างดี สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ เสมือนเป็นอีกกำลังใจให้กับผู้ป่วยที่มีผลกระทบจากมะเร็งช่องปาก โดยเฉพาะในส่วนของขากรรไกร และกระดูกใบหน้าต่างๆ เพื่อยกระดับการรักษาผู้ป่วยที่เกี่ยวกับการทันตกรรมทั้งทั่วไป และพิเศษ
          อ.บวร แสดงความเห็นว่า "การที่จะเลือกมาเรียนศาสตร์นี้ได้นั้น ต้องมีความอดทน และความอยากเรียนรู้จริงจังเกี่ยวกับศาสตร์นี้จริงๆ เนื่องจากใช้เวลาในการศึกษา ระยะสั้นที่สุดนั้นใช้ถึง 11ปี เนื่องด้วยเป็นหลักสูตรที่ต่อเนื่อง และจำเป็นต้องละเอียดอ่อน พร้อมทั้งต้องมีความแม่นยำในระดับที่ดีที่สุดจึงจะสามารถจบสาขานี้ได้"
          นอกจากนี้ อ.บวร ยังกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่สำคัญที่ทำให้ท่านตัดสินใจศึกษาเพิ่มเติมในศาสตร์ของแมกซิลโลเฟเชียลนี้ คือ รองปลัดสมศักดิ์ จักรไพวงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหิดล และ อ.นพ.ทพ.ประสาน ตั้งจาตุรนต์รัศมี ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรงจึงอยากจะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก
          อ.บวร กล่าวว่าวิธีสังเกตมะเร็งช่องปาก อาการในเบื้องต้นมักจะมีเยื่อเมือกในบริเวณที่อยู่เป็นกลุ่มช่องปาก และฟันโดยรวม มักจะสังเกตอาการได้ยากเนื่องจากไม่แสดงอาการ หากตรวจพบแผลภายในช่องปาก หรือเนื้อเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดขุ่น หรือแดงชัดเจนมีอาการที่ร่วมด้วยคือ ต่อมน้ำเหลืองผิดปกติมีอาการบวม เพราะก้อนเนื้อเบียดทับและมีปฏิกิริยาทำให้เนื้อเยื่อตรงบริเวณช่องปากถูกทำลาย
          วิธีการรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากนั้น ทำได้เริ่มตั้งแต่ผ่าตัดร่วมด้วยการฉายแสง ตามอาการและความรุนแรงของมะเร็ง และเคมีบำบัดเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากร่วมด้วย การนำศาสตร์ศัลยกรรมช่องปาก และใบหน้าขากรรไกรนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษา เพราะมีความพิเศษ มีความครอบคลุมในการให้การรักษากับผู้ป่วยได้ตามอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขั้นตอนของการรักษามะเร็งช่องปากนั้น มีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จนถึงระยะที่วิกฤต
          หากผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาถูกมะเร็งกัดกินใบหน้า โครงหน้าในส่วนที่รองรับเนื้อเยื่อต่างๆ จะถูกกินจนเหลือแต่โครงกระดูก ซึ่งทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำเบื้องต้น และชี้แจงวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยในแต่ละระดับที่ผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้น ส่วนของแนวทางการรักษามะเร็งช่องปากเบื้องต้น อ.บวร ให้ความเห็นว่าต้องเลือกวิธีผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเพราะเป็นวิธีการหยุดการเติบโตของเชื้อมะเร็ง และจำเป็นที่จะต้องหาเนื้อที่จะมาทดแทนในส่วนที่ถูกเชื้อมะเร็งกัดกินหายไป พร้อมทั้งหาแนวทางศึกษาวิธีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง หรือใช้พลาสติกเข้ามามีส่วนช่วยในการผ่าตัดและเสริมแต่งให้กับส่วนที่ถูกเชื้อมะเร็งทำลายหรือกัดกินเสียหาย ซึ่งระยะของมะเร็งช่องปากและวิธีการรักษานั้น จำเป็นต้องดูขนาดและรูปทรงของก้อนเนื้อที่บดเบียด ขากรรไกร หรือกระทำปฏิกิริยาต่อระบบช่องปากว่าไปถึงระยะใด
          ทั้งนี้ควรให้เป็นดุลยพินิจของทันตแพทย์ในด้านศัลยกรรมช่องปากที่จะวินิจฉัยว่าควรจะตัดสินใจทำการรักษาในวิธีใด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย สามารถใช้ชีวิต และพยุงอาการให้ทรงตัว และดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้นต้องอยู่ที่อาการที่ ตรวจพบและวิธีการของทันตแพทย์ในการเลือกทำการรักษา
          อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีผลการวิจัยว่ามีส่วนทำให้เกิดมะเร็งช่องปากได้ โดยมะเร็งช่องปากมักพบในเพศชายอายุ 40 ปีที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงจากมะเร็งช่องปาก โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยหลัก ได้แก่ บุหรี่ และการเคี้ยวหมาก ส่วนปัจจัยเสริมคือ การดื่มสุรา เรียกว่า "กันไว้ดีกว่าแก้ ดูแลตัวเองก่อนจะป่วยดีที่สุด"


pageview  1205958    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved