HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 05/09/2556 ]
ทีมแพทย์สหสาขา รักษามะเร็ง

 แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาและการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจะพัฒนามากขึ้น จนแพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งหลายชนิดได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นและรักษาจนหายขาดได้ แต่จากการเก็บข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับพบว่า โรคมะเร็ง ยังคงมีอัตราการคร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งยังมีแนวโน้มของอุบัติการณ์ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี
          ผศ.พญ.สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสงแพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ เรายังไม่ทราบสาเหตุทุกอย่างของการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้ไม่มีวิธีป้องกันที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมะเร็งบางชนิดจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจึงได้รับการตรวจพบในขณะที่เซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปยังบริเวณอื่นแล้ว การรักษาก็ทำได้ยากขึ้น ดังนั้นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ตามวาระเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
          ด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้พัฒนาจนพ้นจากข้อจำกัดของวิธีการเดิม ๆทำให้ผลการรักษาโรคมะเร็งทุกวันนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ป่วยได้รับผลเสียจากอาการข้างเคียงน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ได้กลายเป็นสิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ผู้ป่วยจึงได้รับความเจ็บปวดทรมานจากการรักษาน้อยลง และสามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
          ผศ.พญ.สุนันทา อธิบายว่า ทุกวันนี้เรามีสามวิธีการหลักในการรักษาโรคมะเร็ง หนึ่งคือการผ่าตัด ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดถ้ามะเร็งเป็น ในระยะเริ่มต้น โดยในกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือผ่าตัดแล้วไม่สามารถนำก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดแพทย์จึงจะมองถึงวิธีการอื่น ๆ ต่อไป
          วิธีที่สอง คือการฉายรังสี ซึ่งทำได้ทั้งการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายร่วมกับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระยะของโรคขณะที่ตรวจพบ ส่วนวิธีที่สาม คือการทำเคมีบำบัด ซึ่งโดยมากจะใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ในกรณีที่การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวอาจนำเซลล์มะเร็งออกไม่ได้ทั้งหมด
          "ในโรคมะเร็งระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายแพทย์อาจนำก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดในการผ่าตัดครั้งเดียว หรือถ้ามีการลามไปยังอวัยวะอื่นแล้วแต่ยังไม่มากนัก ก็อาจรักษาด้วยวิธีการฉายแสงเพียงอย่างเดียวได้ ทั้งนี้ เคมีบำบัดจะเป็นเหมือนการเสริมสองวิธีการแรก กล่าวคือหากทำเคมีบำบัดร่วมกันกับการผ่าตัดหรือฉายแสงก็จะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น"
          ในส่วนของเทคโนโลยีการรักษามะเร็ง ผศ.พญ.สุนันทา แพทย์ผู้ชำนาญด้านรังสีรักษา ได้กล่าวถึงพัฒนาการใหม่ของเครื่องฉายแสง ซึ่งได้เข้ามาทำให้การฉายแสงให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นไปอย่างเที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี VMAT (Volumetric Modulated Arc Therapy) ที่กำหนดปริมาณรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็งได้ทั่วถึง ลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉายรังสีถูกอวัยวะใกล้เคียง ด้วยการป้อนข้อมูลและควบคุมการทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
          "เมื่อก่อนนี้เครื่องฉายแสงที่ใช้กันยังเป็นแค่ระบบสองมิติที่เราต้องคอยปรับร่างกายของผู้ป่วยให้ได้องศาเดียวกับเครื่องฉาย หลายครั้งเราต้องจับผู้ป่วยพลิกตัวเพื่อให้ได้ปริมาณรังสีครอบคลุมทุกส่วนในอัตราที่กำหนดไว้ จนมาถึงเทคโนโลยี IMRT ที่สามารถปรับปริมาณรังสีให้สม่ำเสมอกับรูปทรง ขนาด และความหนาหรือความบางที่ไม่เท่ากันของก้อนมะเร็งก้อนหนึ่งได้ แต่ IMRT ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของทิศทางการหมุนของตัวเครื่อง"
          "ส่วนการฉายแสงด้วย VMAT เครื่องฉาย จะหมุนได้ทุกทิศทางรอบตัวของผู้ป่วย และด้วยระบบภาพนำวิถีแบบสามมิติ จึงแม่นยำ ในการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการฉายได้ตามต้องการ พร้อมเตียงปรับระดับซึ่งควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถปรับองศาของเครื่องฉายแสงและเตียงของผู้ป่วย ให้ตำแหน่งของ ก้อนมะเร็งอยู่ภายในบริเวณ ที่ถูกฉายรังสี ช่วยลดระยะเวลาในการฉายรังสีแต่ละครั้งลงจากการใช้เครื่อง IMRT ที่ผู้ป่วยต้องนอนฉายรังสีแต่ละครั้งราว 15-30 นาที ให้เหลือแค่ครั้งละ 3-5 นาทีเท่านั้น ซึ่งการที่ผู้ป่วยอยู่บนเตียงสั้นลงจะเป็นการลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดเนื่องจากการขยับตัวของผู้ป่วยซึ่งทำให้อวัยวะต่าง ๆ เปลี่ยนตำแหน่งไป อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดผลข้างเคียงต่อบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย"
          อย่างไรก็ตาม นอกจากเทคโนโลยีในการรักษาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งให้เกิดผลดีและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนสู่ผู้ป่วยได้ คือบุคลากรแต่ละฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการรักษา โดยการรักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องกำหนดแผนการอย่างเป็นขั้นตอนให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย ตั้งแต่การสอบถามอาการเบื้องต้น การเอ็กซเรย์วินิจฉัยผลตรวจรวมถึงการให้คำแนะนำกับผู้ป่วยแต่ละรายละเอียด ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางหลากหลายสาขา ไปจนถึงศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งต่างชนิด อายุรแพทย์ผู้ดูแลการทำเคมีบำบัด รังสีแพทย์ นักฟิสิกส์และเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการฉายแสง ตลอดจนเภสัชกร พยาบาล และทีมงานทุกฝ่าย เพราะทุกขั้นตอนล้วนมีผลต่อการรักษาและความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วย
          "อย่างในขั้นตอนการฉายแสง การกำหนดตำแหน่งขึ้นอยู่กับรังสีแพทย์โดยตรงถ้าพิกัดพลาดต่อให้นักฟิสิกส์จัดมุมได้ดี เจ้าหน้าที่เทคนิคฉายแสงได้ดี ผู้ป่วยไม่ขยับตัวเลยขณะฉายแสง แต่การรักษาก็ไม่หาย ฉะนั้นความสำคัญของทีมงานแต่ละฝ่ายจึงถือว่าเท่ากันหมดถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำได้ไม่ดี ผลการรักษา ก็ไม่มีทางออกมาดีได้" ผศ.พญ.สุนันทา กล่าว และบอกว่า
          "ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราได้มีการ วางระบบในศูนย์มะเร็งให้มีการรักษาร่วมกัน เป็นทีมแบบสหสาขาตั้งแต่ต้นจนจบ คือการ ให้บริการรักษามะเร็งทุกชนิดเราอยู่ในบริเวณเดียวกันหมด เมื่อผู้ป่วยเข้ามา หลังจาก ที่ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วพบว่ามีโรคมะเร็ง ก็จะตรวจดูระยะขั้นตอนของโรค และเราจะเริ่ม ทำการรักษาทันที และหากดูแล้วว่าต้องทำ เคมีบำบัดร่วมด้วย ก็สามารถเรียกอายุรแพทย์เข้าร่วมให้คำปรึกษาได้ทันที รวมถึงในขั้นตอน อื่นๆ ตั้งแต่ร่วมพิจารณาฟิล์ม ดูผลตรวจ MRI หรือ CT scan ทั้งหมดนั้นเพื่อความสะดวกต่อผู้ป่วยที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปหลายตึกหลายแผนก ดังนั้นผู้ป่วยจะใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน ตั้งแต่เริ่มสงสัยว่ามีอาการจนได้รับการตรวจและเริ่มต้นรักษา เพราะเวลาทุกนาทีถือว่ามีค่ามากสำหรับเขา"


pageview  1205862    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved