HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 04/09/2556 ]
ดึง"พ่อแม่"ร่วมประเมินพัฒนาการลูกน้อย

  การกระตุ้นพ่อแม่หันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาการลูกน้อย ทางกรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยจึงได้ร่วมกันรณรงค์เดือนสิงหาคมให้เป็น "เดือนส่งเสริมพัฒนาการเด็ก" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา เพื่อมุ่งจัดทำโครงการคัดกรองค้นหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการให้เข้ารับการแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งต่อเนื่องจากปี 2555
          จากการดำเนินโครงการปีที่ผ่านมา ได้มีการคัดกรองการพัฒนาการเด็ก 330,000 ราย ในจำนวนนี้มีเด็ก 4,000 ราย ที่พัฒนาการมีปัญหาต้องได้รับการแก้ไข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการข้างต้นถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจพัฒนาการของเด็กไทยทั่วประเทศที่พบว่า มีเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการถึงร้อยละ 30 แสดงให้เห็นว่า ยังมีเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาพัฒนาการบกพร่องต้องได้รับการแก้ไข
          "อัตราการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ยังมีน้อย เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญามีการเข้าถึงเพียง 33,592 คน หรือประมาณ 5.23% และเป็นเด็กออทิสติก 7,212 คน หรือประมาณ 12.02% ของประชากรเด็ก การค้นหาช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงและการดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระยะแรกอย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป การค้นหาจึงมีความสำคัญยิ่ง"
          ส่วนสาเหตุที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ปัจจัยแรกมาจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสภาวะความสมบูรณ์ของเด็ก เช่น บางพื้นที่ยังมีปัญหาไอโอดีน ทำให้ส่งผลต่อการพัฒนาการทางสมอง การกินระหว่างตั้งครรภ์ของแม่ การดูแลลูกหลังคลอด เป็นต้น การไม่รู้ของพ่อแม่ที่มาจากเวลาในการเลี้ยงดูที่จำกัด เนื่องจากปัจจุบันแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ทำให้มีเวลาเลี้ยงดูลูกน้อยมาก ทำให้ไม่เห็นหรือสังเกตสิ่งบ่งบอกพัฒนาการของลูกว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ล่าช้าหรือมีปัญหาหรือไม่ ทั้งการนั่ง คว้าของ ส่งเสียง หันตามเสียงเรียก เป็นต้น เพื่อที่จะรีบแก้ไข และสุดท้ายคือโอกาสในการเข้าถึงบริการคัดกรอง
          ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาทางกรมสุขภาพจิตจึงได้มีการจัดทำเครื่องมือคัดกรองแบบง่ายๆ สำหรับพ่อแม่ในการติดตามดูการพัฒนาการของลูกว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ จัดทำเป็นหนังสือ "คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด 0-5 ปี สำหรับผู้ปกครอง" ที่มีสีสันสวยงาม โดยภายในเล่มจะมีรายละเอียดการพัฒนาการของเด็กใน 4 ด้านอย่างที่ควรจะเป็นไปในแต่ละช่วงอายุเพื่อให้พ่อแม่ได้สังเกต ได้แก่ 1.การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ดูได้จากการเคลื่อนไหวของเด็ก ทั้งการคว่ำ คลาน ยืนและเดิน 2.การพัฒนาการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กันในการพัฒนาการต่อเนื่อง 3.การพัฒนาทางอารมณ์และการเข้าสังคมของลูก และ 4.การพัฒนาการภาษา การพูดของลูก ซึ่งพ่อแม่จะสังเกตลูกได้ไม่ยาก โดยหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาหลายปีจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ United Nations Public Service Awards
          ระยะเวลาของการพัฒนาการของเด็กยังแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ก่อนที่จะถึงอายุ 5 ปี คือ ระยะอายุ 9 เดือน, 18 เดือน, 36 เดือน และ 42 เดือน โดยในช่วงขวบปีแรก คือ อายุ 9 เดือน อยากให้พ่อแม่ดูเป็นพิเศษซึ่งเด็กจะสามารถบอกถึงการพัฒนาการของตนเองได้ เพื่อที่จะได้นำไปสู่การแก้ไขในกรณีที่พบปัญหา ซึ่งหนังสือนี้ยังเป็นเครื่องมือในการค้นหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการเพื่อนำเข้าสู่แก้ไขเพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
          "พัฒนาการของเด็กอายุ 9 เดือน จะสามารถนั่งได้โดยไม่ต้องมีคนมาช่วยพยุง ทั้งยังต้องสามารถเอี้ยวตัวเพื่อหยิบสิ่งของต่างๆ ได้โดยไม่ล้ม ซึ่งพ่อแม่ทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการวางลูกบอลไว้ข้างลำตัวเพื่อสังเกตว่าลูกสามารถหยิบหรือไม่ หากทำได้นั่นหมายความว่าลูกมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เป็นไปตามวัย ส่วนในการวัดทางภาษาจะใช้วิธีการเรียกซึ่งจะต้องหันตามเสียงที่มาได้" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
          ส่วนการดูพัฒนาการของลูก นอกจากส่งผลดีต่อลูกแล้ว ยังทำให้พ่อแม่มั่นใจได้ว่าลูกมีการพัฒนาการที่เป็นไปตามวัย จึงอยากให้มีเครื่องมือในการวัดพัฒนาการ ให้กลุ่มพ่อแม่ที่ขาดโอกาสมากเข้าถึงได้ โดยหนังสือคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด 0-5 ปี สำหรับผู้ปกครองนี้สามารถขอรับได้ที่หน่วยบริการรักษาพยาบาลทั่วไป หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.thaichilddevelopment.com
          ในกรณีที่พบว่าลูกมีปัญหาพัฒนาการล่าช้านี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า หลังทดสอบและพบว่าลูกมีปัญหาพัฒนาการไม่สามารถนอนคว่ำ ยกศีรษะและหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งได้ พูดได้ช้ากว่าปกติหรือไม่ หรือไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ซนเกินไป ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ทำร้ายข้าวของ หรือเลี้ยงง่ายเกินไปไม่ค่อยมีการตอบสนอง ให้พามาที่คลินิกสุขภาพเด็กดี หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ พยาบาลที่จะตรวจสอบพัฒนาการเด็กละเอียดมากขึ้น
          ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตได้จัดทำเครื่องมือตรวจสอบสำหรับ รพ.สต.โดยเฉพาะ เป็นตารางที่บอกการพัฒนาการของเด็กโดยละเอียด พร้อมทั้งได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ถึงวิธีการคัดกรอง หากพบว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขพัฒนาการก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อพบกุมารแพทย์ต่อไป ทั้งนี้โครงการนี้เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้การสนับสนุน ซึ่งทุก รพ.สต.จะรู้จักเครื่องมือนี้และคัดกรองพัฒนาการเด็กได้
          หนังสือคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด 0-5 ปี สำหรับผู้ปกครองต่างจากสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กเล่มสีชมพูที่ดูเด็กในทุกด้าน โดยเรื่องพัฒนาการในเด็กจะสอดอยู่ในหน้าหนึ่งเท่านั้น มีรายละเอียดไม่มาก ซึ่งเราอยากให้พัฒนาการเป็นเรื่องสำคัญและพ่อแม่ต้องใส่ใจ จึงดึงออกมาทำเป็นอีกเล่มหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อเป็นเล่มเสริม โดยผู้ปกครองยังต้องใช้สมุดสีชมพูเป็นหลักในการดูแลลูกต่อไป
          พญ.พรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีพ่อแม่ต้องทำงาน ไม่สามารถเลี้ยงลูกเอง ซึ่งในสังคมปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ต้องจ้างคนมาเลี้ยงดู อยากบอกว่าในช่วงที่ลูกยังเล็กการมีเวลาอยู่กลับลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งช่วงเย็นหลังจากทำงานแล้วต้องอยู่กับลูกมากๆ เพราะเด็กจะมีสัญชาตญาณในการจดจำ รู้ว่าคนนี้เป็นแม่ คนนี้เป็นคนเลี้ยงดู เด็กจะจำกลิ่น เสียง การอุ้ม การสัมผัสได้  โดยเป็นสายสัมพันธ์ที่เกิดภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ความสม่ำเสมอ ความมั่นคง และความต่อเนื่องที่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีใครให้ได้เหมือนกับพ่อแม่และล้วนแต่ส่งผลต่อการพัฒนาเติบโตอย่างมีคุณภาพ
          ส่วนกรณีที่ต้องส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูนั้น รองอธิบดี กล่าวว่า เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน เพราะพ่อแม่ต้องลงมาทำงานในเมือง ไม่มีเวลาเลี้ยงดู ปู่ย่าตายายจึงต้องทำหน้าที่เป็นพ่อและแม่แทน ทางกรมสุขภาพจิตจึงเตรียมทำเครื่องมือการให้ความรู้การวัดพัฒนาการเด็กเพื่อดูแลหลาน ซึ่งจะมีรายละเอียดไม่ต่างจากเล่มนี้เพียงแต่อาจลดทอนตัวหนังสือ เพิ่มภาพเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม.
          'พ่อแม่ควรเข้ามาช่วยการค้นหาช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงพัฒนาการตามวัยที่ไม่ถูกต้อง'
          พรรณพิมล วิปุลากร


pageview  1205864    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved