HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 26/07/2556 ]
สถิติ"มะเร็งตับ"คร่า2หมื่นต่อปีชายมากกว่าหญิง

 มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยมะเร็งตับคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 ระบุพบในชายมากกว่าหญิง คาด 20 ปี ข้างหน้า อุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้น จาก 23,419 ราย เป็น 33,517 ราย ตายเฉลี่ย 2 คน/ชม. หากไม่ป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี ย้ำแม้ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ ก็ยังเสี่ยงสูง เหตุคนไทยเป็นไวรัสตับอักเสบบีและซี แนะเลี่ยงอาหารมัน ลดอ้วน ช่วยได้
          นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวงานขยายโครงการความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ N-PAP เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงยายืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ ซึ่งร่วมกับ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ว่า มะเร็งตับถือเป็นปัญหาของทั่วโลก พบว่ามะเร็งตับพบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 แสนคน จำนวน 2 ใน 3 เกิดในทวีปเอเชีย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศทวีปเอเชีย ที่มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับในระดับสีแดง เช่นเดียวกับประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยในประเทศไทยมะเร็งตับถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ซึ่งเป็นโรคที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิง ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 รายต่อปี และจากสถิติขององค์การอนามัยโลก(WHO) พบว่าในปี 2553 มีผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย 23,410 ราย เสียชีวิต 20,334 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 55 คนต่อวัน หรือ 2 คนต่อชั่วโมง
          การคาดการณ์ว่าหากไม่การดำเนินการเพื่อป้องกันหรือรักษาที่ดี ในปี 2573 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 33,517 ราย และเสียชีวิตถึง 31,028 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 70 คนต่อวัน หรือ 3 คนต่อชั่วโมง โดยมะเร็งตับที่พบบ่อยในประเทศไทยจะเป็นมะเร็งเซลล์ตับ หรือ เฮ็ปปาโตม่า (Hepatocellular carcinoma, HCC) ซึ่งพบอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งเซลล์ตับในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ของโรคที่มีแนวโน้มอัตราเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับกว่า ร้อยละ 87 จะเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่ปรากฏอาการใดๆ ในระยะแรก
          ไวรัสตับอักเสบบีและซี ต้นเหตุมะเร็งตับ
          นพ.ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า โรคมะเร็งเซลล์ตับ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของดีเอ็นเอ หรือสารพันธุกรรมที่ส่งผลให้เซลล์ในตับแบ่งตัว และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ โดยมะเร็งเซลล์ตับแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1.มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ภาวะตับแข็งจากแอลกอฮอล์ หรือการได้รับสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในธัญพืชแห้งที่ขึ้นรา เช่น ถั่วลิสงแห้ง พริกแห้ง และกระเทียม และ 2.มะเร็งตับชนิดท่อน้ำดี ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ
          เนื่องจากมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากขึ้น หรือกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อึดอัดแน่นท้อง ท้องโตเนื่องจากมีน้ำในช่องท้องหรือเรียกว่าท้องมาน มีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งอาจร้าวไปที่หัวไหล่ขวา ภาวะดีซ่าน ตัวเหลือ ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม คันตามมือ เท้า และผิวหนัง อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย รวมถึงน้ำหนักตัวลดลง
          ชี้ตรวจพบระยะลุกลามรักษายาก
          "ผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว พอตรวจก็จะพบว่าเป็นในระยะลุกลาม ซึ่งแม้ว่าการรักษาในปัจจุบันจะได้ผลดีกว่าแต่ก่อน แต่โรคมะเร็งตับในระยะลุกลาม ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดและทำเคมีบำบัดเฉพาะที่เท่านั้น มียาเพียงชนิดเดียวที่มีหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ ว่าสามารถใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งเซลล์ตับได้ แต่ปัญหาคือยาตัวนี้ค่อนข้างแพง  ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ และโดยทั่วไปหากผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษา จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ได้เพียง 3-6 เดือนเท่านั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษา " นพ.ธีรวุฒิ กล่าว
          นพ.ธีรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้หลายคนยังคงสงสัยว่า เหตุใดบางคนถึงแม้จะไม่กินเหล้าหรือสูบบุหรี่ แต่ก็ยังป่วยเป็นมะเร็งตับ ตรงนี้ขอเรียนว่าการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เป็นเพียงปัจจัยเสริมของการเกิดโรค โดยการดื่มเหล้าจะช่วยเพิ่มโอกาสการเป็นป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิด ประมาณ ร้อยละ 10
          ในขณะที่การสูบบุหรี่ ร้อยละ 30 จึงหมายความว่าแม้ผู้ป่วยจะไม่กินเหล้าหรือสูบบุหรี่ก็มีโอกาสป่วยได้เช่นเดียวกัน เพราะคนไทยมีปัจจัยเสี่ยงเยอะ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งพบมากในคนไทยอัตราส่วน 1 ต่อ 12 คน ประกอบกับสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตามสาเหตุของการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับยังไม่เป็นที่แน่ชัด ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพ โดยไม่กินอาหารมันจัด และไม่ปล่อยให้ร่างกายอ้วนจนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้การรักษาทำได้
          นพ.ธีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีของ สายัณห์ สัญญา ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ แพทย์พบว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนในระยะที่ 4 โอกาสหายค่อนข้างยาก ส่วนการรอดชีวิตขึ้นอยู่กับการตอบสนองกับยาและสภาพร่างกาย ซึ่งประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนรายใหม่ 1,300 รายต่อปี คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 10 ของมะเร็งเซลล์ตับ โดยมะเร็งตับอ่อน มี 2 ชนิด คือ มะเร็งตับอ่อนเซลล์ต่อมมีท่อ พบได้ ร้อยละ 90 และมะเร็งตับอ่อนเซลล์ต่อมไร้ท่อ พบได้ ร้อยละ 10 ซึ่งเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเจริญช้ากว่ามะเร็งตับ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวกว่า
          ด้าน รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษามะเร็งเชลล์ตับ ต้องพิจารณาจากระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงเป้าหมาย(Targeted Therapy) หรือ Sorafenib เป็นชนิดรับประทานตัวแรกที่รักษาโดยมุ่งเป้าหมายไปยังยีนหรือโปรตีน ที่ก้อนมะเร็งที่ใช้ในการเจริญเติบโตและแบ่งตัว จึงมีฤทธิ์ทำลายเฉพาะเซลล์เท่านั้น ทำให้มีผลข้างเคียงต่ำกว่าการใช้เคมีบำบัดแบบเดิม
          "วิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันตัวเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดตับอักเสบหรือตับแข็ง เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงอาหารปนเปื้อนเชื้อรา หรืออะฟลาทอกซิน เป็นต้น
          ทั้งนี้ โครงการ N-PAP ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี สามารถช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาแล้วกว่า 500 ราย โดยปี 2556 คาดว่าจะช่วยเพิ่มได้อีก 200 ราย ช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียงค่ายาเริ่มต้นที่ 200,000-600,000 บาท


pageview  1205837    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved