HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 18/07/2556 ]
โรคฉุกเฉิน เรียก 1669

  ผู้บริหารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รู้สึกเป็นห่วงคนไทย ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น  เนื่องจากการใช้ชีวิตในสังคมเมือง ไม่ออกกำลังกาย เครียด จึงได้แนะนำวิธีสังเกตอาการ หากเหนื่อยหอบจุกเสียดที่หน้าอก คลื่นไส้ รีบโทรแจ้ง 1669 ภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูง โดยเผยว่า ปี 2556 มีผู้ป่วย ขอความช่วยเหลือแล้วกว่า 16,476 ครั้ง
          หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญ ของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ก็คือ โรคหัวใจ ที่เกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งถือเป็นโรค ที่คร่าชีวิตคนไทยมาเป็นอันดับ 2 และเป็นหนึ่งใน 6 โรคฉุกเฉิน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำลังหาแนวทางป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิต
          น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฉ.ได้เร่งจัดบริการทาง การแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมและทันกาล มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใน 6 โรคฉุกเฉิน ที่ปัจจุบันมีอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่ม มากขึ้น อาทิ การบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุจราจร ภาวะวิกฤติในทารกแรกเกิด
          สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นผลมาจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลกับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร รสหวาน มัน เค็ม รับประทานผักผลไม้น้อย มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง การทำงานนั่งโต๊ะ มีความเครียด และพักผ่อน ไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ คนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้นและทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
          นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ภาวะหัวใจวาย แบบเฉียบพลัน เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว มีไขมัน หรือแคลเซียม ไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือด- แดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดง ผ่านได้น้อย ซึ่งหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมาก หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตัน 100 เปอร์เซ็นต์ ในทันที ตรงตำแหน่งที่มีไขมันเกาะเส้นเลือด จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
          "โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีอาการปวดไหล่ซ้ายมากกว่าไหล่ขวา จุกแน่นที่ท้อง จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้อาจเจ็บ หลังจากออกกำลังกายหรือเครียด แต่เมื่อ หยุดพักจะหาย ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบ นั่งลง พักกายและใจทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าเป็นโรคดังกล่าวจะต้องรีบอมยาใต้ลิ้น เพื่อบรรเทาอาการ"
          ปัจจุบันการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจได้ก้าวหน้ามาก และสามารถลดอัตราการ เสียชีวิตและพิการลงได้ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้รับการรักษาที่ทันเวลา คือ ภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ "สวนเส้นหัวใจ" ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนและผู้ป่วยตระหนักรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ได้มากขึ้น"
          ทั้งนี้สำหรับสถิติการปฏิบัติการฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2556 พบว่ามีผู้ป่วยขอความช่วยเหลือจากบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากปัญหาด้านหัวใจ 16,476 ครั้ง และมีการขอความช่วยเหลือเนื่องจากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น 637 ครั้ง


pageview  1205479    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved