HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 19/02/2555 ]
อาหรับเร่งพัฒนาวงการแพทย์ หวังคนป่วยเลิกใช้บริการเอเชีย

         เมื่อปีที่แล้ว คนไข้ชาวอาหรับจำนวน 125,000 คน เดินทางมาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งที่เพียง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ในไทยแทบจะไม่มีใครเห็นผู้หญิงที่สวมผ้าคลุมศีรษะ ปิดหน้าปิดตามากนัก 

          ปัจจุบัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พุ่งเป้าการจัดบริการพิเศษให้กับคนไข้จากตะวันออกกลาง รวมถึง การจัดครัวแยกเป็นพิเศษเพื่อประกอบอาหารฮาลาล ล่ามภาษาอารบิคอีก 80 คน และแพทย์อยู่เวรเรียก ที่สามารถพูดภาษาอารบิคได้อีก 3 คน 
          "ทุกวันนี้ พื้นที่ศูนย์อาหารของเรา ดูเหมือนกับว่า คุณกำลังอยู่ในดูไบเลยทีเดียว เราถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดหาพนักงาน ที่สามารถรับมือกับความแตกต่างเหล่านี้ได้ดี เพราะแม้คนไข้ของเราจะมีภูมิหลังเกี่ยวกับไทย แต่ส่วนใหญ่เดินทางมาจากตะวันออกกลางโดยตรง" ปีเตอร์ มอร์เลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์สากล ของบำรุงราษฎร์ กล่าว 
          ข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังแสดงให้เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 โรงพยาบาลมีผู้ป่วยอาหรับเข้ารับการรักษาในแต่ละปีไม่ถึง 10,000 คน แต่เมื่อสหรัฐเพิ่มการคุมเข้มด้านความปลอดภัย และกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง ส่งผลให้ในปี 2546 จำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยจำนวนคนไข้อาหรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% 
          ปัจจัยดึงดูดคนไข้กลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นเรื่องของราคา เพราะการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลแถบเอเชียมีราคาถูกอย่างมาก เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลในยุโรป  หรืออเมริกาเหนือ 
          "รัฐบาลของ 6 ประเทศสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าว มักจะยอมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับพลเมืองของแต่ละราย ที่เดินทางไปรักษาตัวในต่างแดน" มันศูร์ อาลี กรรมการผู้จัดการเคลออส เฮลธ์แคร์ บริษัทด้านดูแลสุขภาพ ของคูเวต ระบุ และว่า ปัจจุบัน สาธารณสุขของประเทศเหล่านี้ มักจะส่งคนไข้บางรายมารักษาในโรงพยาบาลในเอเชีย อย่างบำรุงราษฎร์ เพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่าย 
          ข้อมูลจาก บูซ แอนด์ โค บริษัทที่ปรึกษา ระบุว่า ในแต่ละปี เฉพาะผู้ป่วยจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพียงประเทศเดียว ก็เดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศมากถึง 7,000 ราย โดยภาระค่ารักษาพยาบาลของรัฐบาลยูเออี เมื่อปี 2551 พุ่งเกิน 500 ล้านดอลลาร์ จากจำนวนไม่ถึง 200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2546 
          นอกจากค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลแล้ว รัฐบาลประเทศอาหรับเหล่านี้ ยังเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย ครอบคลุมถึง ค่าเดินทาง ค่าอาหารและค่าที่พัก ทั้งของผู้ป่วย และญาติที่เดินทางมาด้วย 
          วงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น พลเมืองคูเวต พร้อมญาติ ที่เดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศ จะได้รับเงินใช้จ่ายประจำวันคนละ 250 ดอลลาร์ต่อวัน หรือประมาณ 7,500 บาท และได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับชั้นธุรกิจ ค่าอาหาร และที่พัก สูงสุดไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 150,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางที่จะเดินทางไป 
          นักวิเคราะห์ชี้ว่า สาเหตุหลักที่ชาวอาหรับเหล่านี้เดินทางไปรักษาตัวในต่างแดน เพราะในประเทศบ้านเกิดขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือบางครั้งแม้จะมีแพทย์ แต่สภาพการรักษาพยาบาลก็เป็นไปอย่างย่ำแย่ โดยโรงพยาบาล และคลินิกเกือบทุกแห่งของกลุ่มประเทศจีซีซีนั้น ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยทศวรรษ 70 และ 80 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรฐานการรักษาพยาบาลอยู่ในระดับต่ำ โรงพยาบาลหลายแห่งมีเครื่องมือเครื่องใช้ไม่พร้อม ทั้งเจ้าหน้าที่ยังดูแลคนไข้ไม่ได้ และมีสถานพยาบาลจำนวนมากที่ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ 
          เหตุผลข้างต้น ทำให้คนไข้ในประเทศเหล่านี้ มักจะเดินทางไปรักษาอาการป่วยเฉพาะทาง อย่าง เนื้องอก ประสาทวิทยา  กระดูกและข้อ  และโรคหัวใจ ที่ เยอรมนี อังกฤษ ไทย และ อินเดีย 
          เคลออส เผยด้วยว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการส่งตัวผู้ป่วย พร้อมญาติ ไปรักษาตัวในต่างประเทศนั้น ตกรายละประมาณ  200,000 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้งบประมาณของภาครัฐตกอยู่ในภาวะตึงตัวได้ 
          บริษัทด้านดูแลสุขภาพรายนี้ คำนวณว่า เม็ดเงินด้านดูแลสุขภาพ ที่คาดว่าจะไหลออกจากจีซีซีในปีนี้ รวมถึง ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ อยู่ที่ราว 12,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 10,000 ล้านดอลลาร์มาจากภาครัฐ และอีก 2,000 ล้านดอลลาร์เป็นภาระของภาคเอกชน ซึ่งรวมถึง เงินที่คนไข้ต้องควักกระเป๋าออกเอง หรือผ่านทางบริษัทที่คนไข้ซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งประเทศที่เป็นผู้รับเม็ดเงินดังกล่าว รวมถึง สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี อียิปต์ และไทย 
          ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่เรียกกันว่าเป็นปัญหาขาดแคลนผู้ป่วยนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลุ่มจีซีซี ได้ตั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบคนไข้แต่ละราย ที่ต้องการเดินทางไปรักษาตัวในต่างแดน ทั้งยังเริ่มนำเข้าผู้จัดหาบริการทางการแพทย์ และนายแพทย์ เข้ามาในภูมิภาค นอกเหนือไปจากการทุ่มลงทุนอย่างหนักในโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว 
          ศูนย์การแพทย์คิง ฟาฮัด ในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ได้สั่งนำเข้าอุปกรณ์มูลค่า 77 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,310 ล้านบาท สำหรับศูนย์บำบัดด้วยไฟฟ้า เป็นแห่งที่ 37 ของโลก โดยศูนย์ใหม่นี้ จะเป็นศูนย์การแพทย์แห่งแรกในซาอุดีอาระเบีย ที่รับรักษามะเร็งบางชนิด 
          "ศูนย์การแพทย์ข้างต้น จะช่วยประหยัดเงินให้กับรัฐบาลได้ปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์ทีเดียว โดยในปัจจุบัน ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดด้วยไฟฟ้า จะต้องเดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งวิธีการรักษาแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และอาจต้องรักษากันนานหลายเดือนทีเดียว" แจด บิตาร์ ที่ปรึกษาจาก บูซ แอนด์ โค กล่าว 
          รัฐบาลในโลกอาหรับ ยังมุ่งลงทุนด้านการเรียนการสอนทางการแพทย์ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาค โดยที่กาตาร์นั้น บริษัทฮาหมัด เมดิคัล คอร์ป ได้ดำเนินการฝึกอบรม แพทย์ และพยาบาล เพื่อหาทางสร้างบุคลากรอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ จากปัจจุบันที่แรงงานราว 93% ในระบบดูแลสุขภาพท้องถิ่น เป็นชาวต่างชาติ 
          นักวิเคราะห์ชี้ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องของความมั่นคงด้วย เพราะหากแรงงานเหล่านี้เกิดตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน หรือออกจากประเทศไปอย่างกะทันหัน ก็จะส่งผลให้ระบบดูแลสุขภาพท้องถิ่นล่มสลายลงได้ 
          ช่องว่างของธุรกิจดูแลสุขภาพในโลกอาหรับ ยังส่งผลให้ภูมิภาคนี้ กลายเป็นจุดสนใจของหลายประเทศที่จะเข้าไปลงทุน ล่าสุด คลีฟแลนด์ คลินิก จากสหรัฐ เตรียมเปิดสาขาแรกนอกภูมิภาคอเมริกาเหนือ ที่เกาะเซาเวาะห์ ในกรุงอาบูดาบี 
          โครงการก่อสร้างโรงพยาบาล มูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท แห่งนี้ จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาให้บริการกับคนไข้ รวมถึง ประสาทวิทยา และ โรคหัวใจ โดยมี มูบาดาลา หน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลอาบูดาบีเป็นผู้ลงทุน และเจ้าของ ส่วน คลีฟแลนด์ รับบทผู้ดำเนินงานบริหารจัดการ 
          "การเข้ารักษาในโรงพยาบาลแถบเอเชียมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลยุโรปหรืออเมริกาเหนือ"

pageview  1205077    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved