HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 18/02/2555 ]
วิกฤติฝุ่นคลุม8จว.เหนือ

         สธ.พบผู้ป่วยทางเดินหายใจ เกิน 2,000 รายเตือนงดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากนอกบ้าน

          ทส. เตือน 8 จังหวัดเหนือหมอกควันพุ่ง ผลตรวจวัดคุณภาพอากาศทุกสถานีฝุ่นขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานลำปางสูงสุดเกิน 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กระทรวงสาธารณสุขสั่งโรงพยาบาลในพื้นที่รับมือ หลังจากพบว่าผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่จังหวัดลำพูนเพิ่มขึ้นสองพันราย ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ป่วยเพิ่ม 10% 
          ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากผลตรวจวัดคุณภาพอากาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกสถานีในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด มีแนวโน้มสูงขึ้น จนน่าเป็นห่วง 
          นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ กล่าวถึงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด พบว่ามีแนวโน้มที่ฝุ่นขนาดเล็กเพิ่มเกินมาตรฐาน โดยพบว่าปริมาณฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ไมครอน ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 82.8-192.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลต่อสุขภาพ 
          อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกสถานี โดยเฉพาะลำปาง ลำพูน แพร่ เชียงราย และ พะเยา ที่มีฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 
          อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการลดและควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะงดการเผาริมทา งดการเผาป่าในพื้นที่ป่าและไฟป่า และขอความร่วมมือประชาชนงดเผาขยะ เศษวัสดุการเกษตร และกิ่งไม้ใบหญ้า เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกที่เกิดขึ้น 
          ฝุ่นลำปางพุ่งเกิน 200 ไมโครกรัม 
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในหมอกควันไฟ จ.ลำปาง มีค่าพุ่งขึ้นสูงถึง 235.33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ โดยพบว่าทุกสถานีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะตัวเมืองลำปาง ถือว่ามีฝุ่นละอองขนาดเล็กในหมอกควันไฟสูงสุดในประเทศต่อเนื่องมาเป็นวันที่สามแล้วส่วนจังหวัดที่มีค่าสูงตามมา คือ จ.แพร่ วัดได้ 218.08 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
          ฝุ่น-หมอกคลุมพื้นที่เชียงใหม่ 
          ส่วนพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นแม้จะยังไม่เกินมาตรฐานก็ตาม โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์หมอกควันว่าค่าปริมาณฝุ่นควันขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน แม้ว่าจะยังไม่เกินมาตรฐาน แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 
          ผมได้สั่งให้ 25 อำเภอทั้งนายอำเภอ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หามาตรการลดการเผาป่าและลดปริมาณฝุ่นควันทุกชนิด 
          นอกจากนี้เขาได้มีแผนรองรับ โดยจะได้ประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอสนับสนุนการทำฝนหลวง รวมทั้งประสานไปยังกองทัพอากาศเพื่อสนับสนุนเครื่องบินซี 130 ขึ้นบินโปรยละอองน้ำชะล้างฝุ่นควันในอากาศในพื้นที่วิกฤติโดยเฉพาะในเขตเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 
          ลำพูนอ่วมฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 
          นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จ.ลำพูน ตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานที่สถานีตรวจวัดคุณภาพ อากาศสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ข้อมูลการตรวจวัดสภาพอากาศมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า PM 10 ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (17 ก.พ.) ค่าที่วัดได้ 194.17 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นอันดับสามรองจาก จ.ลำปาง ค่าที่วัดได้ 235.33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ จ.แพร่ ค่าที่วัดได้ 218.08 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือชุมชนเมือง และมีความเป็นห่วงประชาชน 
          อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำพูนได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมไฟป่าในเขตอนุรักษ์ 287 หมู่บ้าน ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ 
          สธ.สั่งรพ.8จว.เตรียมรับมือ 
          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นและหมอกควัน ในจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานจึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 8 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ น่าน เฝ้าระวังผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 
          2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด 3.กลุ่มโรคตาอักเสบ 4.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลแต่ละจังหวัดทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินความรุนแรง รวมทั้งให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จัดเวชภัณฑ์ดูแลผู้เจ็บป่วยจากปัญหาหมอกควันตลอด 24 ชั่วโมง และให้ติดตามข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด 
          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากควันไฟ สูงกว่าคนทั่วไป มี 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเด็ก 2.หญิงตั้งครรภ์ 3.ผู้สูงอายุ 4.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด 5.ผู้ป่วยโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง 6.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และ 7.ผู้ป่วยโรคหัวใจ กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาจัดเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการสูดละอองของควันไฟ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดละอองของควันไฟเข้าปอด หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน 
          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงที่มีหมอกควันครอบคลุมพื้นที่ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสหมอกควัน หรือลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับควันมากขึ้น เช่น งดการสูบบุหรี่ หรืออิริยาบถที่มีการเคลื่อนไหวมาก เป็นต้น รวมทั้งติดตามข่าวสารเตือนภัยจากรัฐบาลทางสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการดูแลป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัว 
          ยอดผู้ป่วยทางเดินหายใจเพิ่ม 10% 
          นายแพทย์วัฒนา กาญจนกมล นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตัวเลขยอดผู้ป่วยตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึง 10% มีผู้ป่วยแล้วกว่า 2,500 คน โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ถึงแม้ว่าค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ จะยังไม่เกินค่ามาตรฐาน ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มว่า ค่าฝุ่นละออง จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 
          ลำพูนพบผู้ป่วยสองพันราย 
          นายแพทย์สมชาย โรจนรัตนนางกูร สาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ที่กำหนดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ทำให้ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนบ้างแล้วโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 
          จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากโรงพยาบาล จ.ลำพูน รายสัปดาห์ ล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว 2,572 ราย ซึ่งหากเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันมีจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ 2,476 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยโรค ระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น 
          ในเบื้องต้นได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย การจัดทำช่องทางพิเศษสำหรับบริการผู้ป่วยทุกโรงพยาบาล การเตรียมการรองรับการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมกับให้สถานพยาบาลทุกแห่งออกให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลสุขภาพ การจัดเตรียมหน้ากากอนามัย 
          อีกทั้งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจประชาสัมพันธ์และรณรงค์ลดการเผาร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในทุกพื้นที่ สำหรับแนวทางการปฏิบัติของประชาชนในการดูแลสุขภาพระยะนี้ ได้แก่ การงดกิจกรรมกลางแจ้งและงดการออกกำลังกาย ถ้าอยู่บริเวณที่มีควันไฟให้ใส่หน้ากากอนามัยถ้าชุบน้ำพอหมาดๆ จะมีประสิทธิภาพการป้องกันที่ดีขึ้น 
          ลำปางสั่ง รพ.รับมือหมอกควัน 
          นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้สั่งการให้โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โรงพยาบาลต่างอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทุกแห่งในพื้นที่ ให้พร้อมทีมแพทย์และพยาบาล ตลอดจนเวชภัณฑ์ในการตรวจรักษาโรคของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยประชาชนชาวลำปาง มีอาการไอ จาม และ แสบจมูก เข้าทำการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดแล้วกว่า 1,500 คน 
 
          บรรยายใต้ภาพ
          ทัศนวิสัยต่ำ: สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เที่ยวบินกรุงเทพฯ-ลำปาง ตอ้งวิ่งฝ่าหมอกควันไฟบนรันเวย์ซึ่งมีความยาวกว่า 1,900 เมตร ของท่าอากาศยานลำปาง เพราะปัญหาหมอกควัน ฝุ่นขนาดเล็กปกคลุมหนาแน่น ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำเพียง 1 กิโลเมตร หอบังคับการบินลำปางจึงต้องเปิดไฟบนรันเวย์ แต่ในที่สุดก็ลงจอดได้อย่างปลอดภัย

pageview  1204848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved