HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 15/05/2555 ]
เหมืองรัสเซียค้านไทยห้ามใช้ 'ไครโซไทล์'

ออเรนเบิร์ก มิเนอรอล เหมืองแร่ใยหินไครโซไทล์รัสเซีย ชี้แจงข้อมูลแร่ผ่านคณะกรรมาธิการร่วมไทย-รัสเซีย ระบุไทยยังขาดข้อมูลที่ชัดเจน แนะรัฐบาลแก้ปัญหาความเห็นขัดแย้งในสังคมไทยก่อนประกาศห้ามใช้ กระทรวงอุตสาหกรรม เผย ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพให้ชัด ก่อนกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4
          นายอังเดร กอล์ม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ออเรนเบิร์ก มิเนอรอล เปิดเผยว่า บริษัทรับทราบข่าวที่ทางการไทยกำลังพิจารณาห้ามใช้ไครโซไทล์จากสื่อมวลชน ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันไม่มีผลศึกษาใด ยืนยันว่าไครโซไทล์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยไทยใช้แร่ชนิดนี้ในวัสดุก่อสร้างมา 50 ปี และยังไม่พบผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งตั้งแต่ที่บริษัทตั้งเหมืองแร่ขึ้นมา ก็ยังไม่มีพนักงานรายใดที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเลย โดยถ้าแร่ใยหินชนิดนี้ ส่งผลกระทบทางสุขภาพจริง คงพบผู้ป่วยจำนวนมากแล้ว
          ปัจจุบัน ทั่วโลกมีเหมืองแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ 4 แห่ง รวมถึงในรัสเซีย 2 แห่ง แคนาดา และบราซิล ประเทศละ 1 แห่ง ส่งผลให้รัสเซียขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยรัสเซียยังมีแหล่งแร่ ที่ยังไม่ได้ทำเป็นเหมืองอีก 11 แห่ง ซึ่งออเรนเบิร์ก มิเนอรอล เข้ามาลงทุนทำกิจการเหมืองแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ มาตั้งแต่ปี 2522 โดยแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ผลิตได้นั้น ส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าที่มีซีเมนต์เป็นส่วนผสม อาทิเช่น กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ ผ้าเบรกรถยนต์ ซึ่งไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ปีละ 60,000 ตัน เกือบทั้งหมดนำเข้าจากรัสเซีย
          นายกอล์ม กล่าวด้วยว่า ไทยอาจจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับไครโซไทล์ จึงเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ มีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนมาทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ร่วมกัน
          บริษัทเห็นว่า กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เวลาเพียง 6 เดือน ในการศึกษาเรื่องไครโซไทล์ อาจยังไม่ได้ข้อมูลครบทั้งหมด
          ผู้บริหารรายนี้ ยังแสดงความเห็นว่า เมื่อเกิดความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในไทยแล้ว ควรหาทางแก้ปัญหาก่อนที่จะประกาศห้ามใช้ ซึ่งรัฐบาลไทยควรจัดลำดับความสำคัญก่อนว่า แร่มีอันตรายหรือไม่ เพราะที่รัสเซียใช้แร่ใยหินไครโซไทล์มา 100 ปี ไม่พบว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบสภาพภูมิประเทศแล้ว ไทยมีความเสี่ยงจากอันตรายจากฝุ่นน้อยกว่ารัสเซีย เพราะไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้นส่วนรัสเซียมีสภาพอากาศแห้งและเย็น จึงมีโอกาสที่จะเกิดการฟุ้งกระจายมากกว่า โดยบริษัทต้องการบอกประชาชนไทยว่า แร่ใยหินไครโซไทล์ปลอดภัยและใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพขึ้น
          นายอังเดร กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้คงต้องชี้แจงให้ไทยเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนาในเวียดนาม จีน อินโดนีเซีย อินเดีย คิวบาและเม็กซิโก โดยกระแสการห้ามใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง และมีไม่กี่ประเทศที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์ แต่จำนวนประชากรมากขึ้น และประชากรเกิดใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน ที่ต้องใช้สินค้าราคาถูก
          การสั่งห้ามใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ผลิตปัจจุบันออกจากตลาดได้ และถ้าไม่มีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิตสารทดแทน เช่น พีวีเอ พีวีซี เซลลูโลส เส้นใยเหล็ก เยื่อกระดาษ
          ทางด้าน นายเซอเย่ คาซานสกี หัวหน้าแผนกสุขอนามัยคนงาน ศูนย์วิจัยทางการแพทย์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพคนงานภาคอุตสาหกรรมแห่งเยคาเตริงเบิร์ก กล่าวว่า รัสเซียนำแร่ใยหินไครโซไทล์มาใช้ตั้งแต่ปี 2472 ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตแร่ใยหินไครโซไทล์มากที่สุด และรัฐบาลรัสเซียมีจุดยืนสนับสนุนให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์มาตั้งแต่ปี 2541
          รัฐบาลรัสเซียไม่ได้พิจารณาว่าจะห้ามหรือไม่ห้ามใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ แต่จะพิจารณาว่าจะต้องใช้อย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งแร่ชนิดนี้ย่อยสลายในร่างกายได้ภายใน 15 วัน และเมื่อเข้าไปอยู่ในกระเบื้อง จะถูกซีเมนต์ล็อกไว้จึงปลอดภัย
          ส่วน นายยงยุทธ ทองสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และระยะเวลาในการเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบของสินค้า 5 รายการ คือ กระเบื้องมุงหลังคาลอนคู่ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น เบรกและคลัตช์รถยนต์ และท่อซีเมนต์ โดยศึกษามาแล้ว 2 เดือน จากกำหนดระยะเวลา 6 เดือน
          เมื่อศึกษาเสร็จจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อกำหนดนโยบายการเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ โดยที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง เพราะต้องศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ และต้องดูด้วยว่า ถ้ายกเลิกไปแล้วจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับสินค้าในตลาด
          "การสั่งห้ามใช้ไครโซไทล์เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตปัจจุบันออกจากตลาด และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิตสารทดแทน"


pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved