HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 14/05/2555 ]
ดูแลต้นทุนสุขภาพจากการบริโภค 'น้ำมัน'

 ประเทศไทยถือเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ และยังเป็นครัวของโลก จากชื่อเสียงในเรื่องการทำอาหาร และรสชาติ รวมทั้งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ครัวไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจนกระทั่งชาวต่างชาติที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนต้องได้ชิมอาหารไทยสักครั้งจึงถือได้ว่าได้มาถึงเมืองไทยจริงๆ
          แต่ตรงกันข้าม สภาพความเป็นอยู่และรูปแบบการบริโภคของประชากรในบ้านเราเองกลับสวนทางกับคุณภาพของอาหาร และกับข้าวกับปลาที่เราเสิร์ฟให้กับชาวต่างชาติ เพราะปัจจุบัน คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจากการบริโภคอาหาร หรือใช้วัตถุดิบประกอบอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคมะเร็ง และโรงทางเดินอาหารอื่นๆ ซึ่งกำลังกลายเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตชาวไทยเป็นอันดับต้นๆ
          ความมักง่ายในการใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารถือเป็นประเด็นหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว จริงอยู่ที่ว่าคนไทยดั้งเดิมบริโภคอาหารซึ่งมีปริมาณไขมันอยู่น้อยมาก โดยจะเน้นการปรุงอาหารให้สุดด้วยวิธีการนึ่ง ลวก หรือ ต้ม แต่ด้วยวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการผสมผสานรูปแบบการทำอาหารโดยรับแบบอย่างมาจากชาติอื่นๆ การปรุงอาหารให้สุดด้วยวิธีการทอดโดยใช้น้ำมัน กลายเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารบ้านเราทุกวันนี้
          อันที่จริงแล้ว การใช้น้ำมันมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่ความมักง่ายของผู้ปรุง และความรัดตัวทางเศรษฐกิจทำให้คนขาดความสนใจและระมัดระวังในการเลือกใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร การใช้น้ำมันซ้ำเดิมหลายๆ ครั้ง ก่อให้เกิดสารพิษปนเปื้อนในอาหารที่ทำให้เกิดทั้งโรคร้ายอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หลอดเลือดสมองอุดตัน และกระทั่งโรคมะเร็ง
          เมื่อเดือนที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงจับมือกับหน่วยงานด้านการสาธารณสุข อย่างเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU ในการช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ และหาแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เพื่อวางแนวทางเพื่อนำไปสู่การช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างจริงจัง
          โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการขานรับนโยบายของ นพ.สุรวิทย์ นสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นโยบายดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับเป้าหมาย 4 ประการในการยกระดับคุณภาพของการบริโภคในกลุ่มคนไทย ซึ่งได้แก้
          1. ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ เทคโนโลยี และเครื่องมือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม 2. ส่งเสริมผู้ประกอบการประกาศมาตรการ และสร้างแรงจูงใจไม่ให้ใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ รวมถึงกำหนดแนวทางประกันความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค 3. สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมตรวจสอบปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น และ 4. สนับสนุนจัดทำระบบเฝ้าระวังไม่ให้น้ำมันทอดซ้ำกลับสู่วงจรอาหาร รวมถึงพิจารณาการกำหนดให้การซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก น้ำมันทอดซ้ำเป็นกิจการควบคุม
          เป็นเรื่องน่าตกใจไม่ใช่น้อย เนื่องจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรม และปริมาณการใช้น้ำมันของครัวเรือนไทยในการประกอบอาหารนั้น พบว่า บ้านเรามีการนำน้ำมันกลับมาใช้อีกเป็นปริมาณกว่า 8 แสนตันต่อปี โดยครึ่งหนึ่งนั้นเป็นการบริโภคในครัวเรือน และอีกครึ่งถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร และมีส่วนที่เหลือจากการใช้งานเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานไบโอดีเซล คำถามที่เกิดขึ้นจึงเป็นความสงสัยที่ว่า แท้จริงแล้ว ปริมาณน้ำมันทั้งหมดสูญหายไปไหน
          รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่าการทำงานอาจต้องเริ่มจากกลุ่มผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ เพราะสามารถติดตามได้ง่าย และค่อยๆ ขยายไปในกลุ่มอื่นๆ การลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะเป็นการหนุนให้เกิดการทำงานทั้ง ภาคปฏิบัติ ภาควิชาการ กฎหมาย และการสื่อสารที่ถูกต้องภายในท้องถิ่นอย่างถูกต้องเพื่อให้ประชาชนให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญของปัญหา เช่น เริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้องว่า น้ำมันทอดซ้ำ ไม่ได้หมายความว่า ใช้ได้เพียงครั้งเดียว แต่น้ำมันทอดซ้ำต้องเปลี่ยนเมื่อระยะเวลาที่เหมาะสม
          แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ภาคครัวเรือนก็คงจะต้องรัดเข็มขัด เพื่อให้ทุกการใช้จ่ายเป็นไปอย่างคุ้มค่าและประหยัด แต่ต้นทุนด้านสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นการระมัดระวังเรื่องการบริโภคจึงเป็นทางป้องกันลำดับแรกๆ เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนชีวิตของคนไทยสูงไปตามความผันผวนของเศรษฐกิจนั่นเอง
          ขอขอบคุณข้อมูลจาก..www.thaihealth.or.th


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved