HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 15/02/2561 ]
กรมอนามัย ติวเข้ม Care giver ดูแลผู้สูงอายุ คิกออฟ มหัศจรรย์ 1,000 วัน เพื่อการเกิดที่มีคุณภาพ

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขกับบทบาทการเป็นทีมสนับสนุนการทำงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) ในระดับพื้นที่ ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นกรุงเทพมหานคร ว่า การจัดประชุมวันนี้เป็นการเชิญแม่บ้านในสำนักงานสาธารณสุขทั้ง76จังหวัดมาประชุมร่วมกันเพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวหรือระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดเตียงติดบ้าน โดยกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ กรมอนามัยพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver : CG)ซึ่งผู้ดูแลส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกรมอนามัยเล็งเห็นศักยภาพและขีดความสามารถของสมาชิกสมาคมแม่บ้าน ที่เข้าไปหนุนเสริมเนื่องจากประเทศไทยพัฒนาสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ อย่างรวดเร็วและใช้เวลาเพียง 17-18 ปีเท่านั้น ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลายาวนานกว่า 100 ปีถือว่าเป็นสัดส่วนที่น่ากังวล ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ดูแลผู้สูงอายุให้ดีสามารถเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวได้อย่างไรก็ตามครอบครัวก็ต้องช่วยกันดูแลให้ดีด้วย ประกอบกับกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นสำคัญคือเมื่อผู้สูงอายุมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆจะต้องมาพร้อมกับสุขภาพที่ยอดเยี่ยมขณะเดียวกันประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อย ไม่พอเพียงที่จะทดแทนประชากรผู้สูงอายุได้ แต่ถ้าเราส่งเสริมการเกิดไม่ได้ เราก็ทำให้การเกิดทุกการเกิดมีคุณภาพ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้จัดทำโครงการ"สาวไทยแก้มแดง"ส่งเสริมให้แม่มีความพร้อมมีความสมบูรณ์ ในการตั้งครรภ์ เพื่อให้การเกิดมีคุณภาพ โครงการนี้ประสบความสำเร็จ และได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี และในปีนี้ กรมอนามัยได้จัดทำโครงการ"มหัศจรรย์1,000 วัน" เป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อให้การเกิดทุกการเกิดและเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
          อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการดำเนินงาน มหัศจรรย์ 1,000 วัน ว่าการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วง  ช่วงแรกอยู่ในท้อง 270 วัน แม่จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี มีภาวะโภชนาการที่ดี ตรวจสุขภาพระหว่างฝากครรภ์ ซึ่งขยายระยะเวลาจากเดิม 5 ครั้งเป็น 8 ครั้งเพื่อดูแลแม่และเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่มีความเสี่ยง ส่วนช่วงที่ 2  จำนวน 180 วันหรือ 6 เดือนแรก ลูกจะต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวตลอด 6 เดือน ซึ่งในปัจจุบันเด็กไทย ได้กินนมแม่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ23 ต่างจาก 5 ปีที่แล้ว มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ส่งเสริมให้เด็กได้กินนมแม่มากขึ้นโดยลดความกังวลของแม่ กรณี ลาเลี้ยงลูกจะได้รับเงินเดือนเต็ม หรือมีสิทธิด้านภาษี รวมถึงการสนับสนุนของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆฉะนั้นช่วง 6 เดือนแรก สำคัญมาก และช่วงสุดท้ายคือ  550 วัน คือ ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปีบริบูรณ์
          "ทำไมต้อง 1,000 วัน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงพัฒนาการสมองของเด็กไม่ว่าจะเป็นเซลล์สมอง ประสาทที่เชื่อมแต่ละเซลล์ของสมอง ซึ่งการพัฒนาสามารถพัฒนาได้มากกว่าร้อยละ 90 ในช่วง 1,000 วัน เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน จะสามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพได้ และในอนาคตเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีศักยภาพสามารถดูแลผู้สูงอายุ ได้ 2-3 คน"
          ขณะนี้กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิบุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งได้ผลดี โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำงานเชิงรุก ใครตั้งท้องบอกด้วย โดยบอกผ่านให้ทุกพื้นที่มีการเกิดอย่างมีคุณภาพและทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งเป็นแผนหลายปี แต่เริ่มคิกออฟปีนี้"
          สำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุประกอบด้วย 4 ข้อหลัก 1.เสี่ยงที่จะล้มทำอย่างไรไม่ให้ล้ม ควรออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงของขา แต่ถ้าไม่ไหวก็อย่าเสี่ยง 2.เสี่ยงที่จะหลงๆ ลืมๆควรฝึกสมอง เช่น นับเลข หรือเล่นบวกลบเลข รวมถึงฝึกความจำ ซึ่งมีวิธีการฝึกง่ายๆ 3.เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวจะเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้  ลูกหลานญาติพี่น้องต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิดเปลี่ยนจากติดบ้านเป็นติดสังคมก็สามารถช่วยได้ และ 4.เสี่ยงกับการรับประทานอาหารไม่อร่อย ซึ่งเกิดจากสุขภาพฟันควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
          "สูตรง่ายๆ ที่ทุกคนต้องช่วยกันเริ่มจากท่านช่วยตัวเอง ลูกหลานและคนในสังคมต้องช่วยกัน ทำอย่างไรไม่ให้ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า และกินข้าวอร่อย"  นายแพทย์วชิระ กล่าวสรุป


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved