HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 15/11/2560 ]
หยุด!พฤติกรรมรุนแรง เด็กแกล้ง-รังแกกัน

 น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวถึง การกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโรงเรียน (Bullying) ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ ว่า เป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่ง
          มีทั้ง 1.ข่มเหงรังแกทางกาย พบบ่อยในทุกโรงเรียน เช่นผลัก ต่อย หยิก ดึงผม ใช้อุปกรณ์แทนอาวุธข่มขู่
          2.ข่มเหงรังแกทางอารมณ์ เช่น ล้อเลียนหรือทำให้อับอายกีดกันออกจากกลุ่ม เพิกเฉย เหมือนไม่มีตัวตน
          3.ข่มเหงรังแกทางคำพูด เช่น ใช้คำหยาบคาย หรือดูถูก เหยียดหยาม
          4.ข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต เช่น ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กล่าวหาหรือใส่ความให้อับอาย เป็นต้น
          ผลกระทบจะทำให้เด็กที่ถูกรังแก  ซึมเศร้า-วิตกกังวล เพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยว กิน-นอนผิดปกติ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้ ซึ่งปัญหานี้อาจยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่
          ทั้งอาจมีอาการ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ผลการเรียนลด ต้องออกโรงเรียน  เสี่ยงสูงที่จะรังแกคนอื่นต่อไป
          ขณะเด็กที่ชอบรังแกผู้อื่นจะเสี่ยงใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น รวมทั้งชอบทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน และอาจต้องออกจากโรงเรียน เสี่ยงทำผิดกฎหมาย เสี่ยงที่จะทำร้ายคู่สมรส-บุตรเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
          พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะนำให้ผู้ปกครอง และครู สอนเด็กให้สามารถดูแลป้องกันตัวเองจากการถูกกลั่นแกล้งได้
          เช่น บอกครูประจำชั้น ไม่อยู่คนเดียว ไม่ตอบสนองอีกฝ่ายที่จะทำให้กลั่นแกล้งเพิ่มมากขึ้น หรือให้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเวลา โรงเรียนต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง มีการพูดคุย ห้ามปรามปกป้องเด็ก
          ปัญหาเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งน่าจะมีมาก่อนโดยที่ครูไม่ทราบ เด็กที่รังแก อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เกเร ดื้อ ต่อต้าน มีพฤติกรรมจุดไฟ เลี้ยงดูปล่อยปละละเลย เสพสื่อรุนแรง อยากรู้อยากลอง
          ครู-ผู้ปกครอง ควรอบรมสั่งสอนให้รู้อะไรควร-ไม่ควร-ทำได้ทำไม่ได้ สิ่งไหนที่ห้ามทำ สังคมไม่ยอมรับ
          ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะก่อนอายุ10ปี ซึ่งจะช่วยให้ยับยั้งชั่งใจ แยกผิดชอบชั่วดี ลดพฤติกรรมเลียนแบบที่อาจทำให้ชินชากับความรุนแรงได้


pageview  1204997    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved